ถามตอบ
Q : บมจ. จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ประกอบธุรกิจอะไรบ้าง
A : บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจด้านความบันเทิงแบบครบวงจร โดยเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานหลากหลายรูปแบบ ด้วยคุณภาพระดับสากลเพื่อส่งมอบความสุขแบบไร้ขีดจำกัดในวงกว้าง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญการนำเสนอผ่านธุรกิจเพลงและศิลปิน จากผลงานโดดเด่นต่อเนื่องมายาวนาน บริษัทฯไม่หยุดยั้งที่จะพัฒนาต่อยอดธุรกิจด้านต่างๆ ส่งผลทำให้ปัจจุบันมีธุรกิจที่หลากหลาย
สามารถแบ่งลักษณะธุรกิจได้ดังนี้
1. ธุรกิจเพลง
ธุรกิจเพลงดำเนินการภายใต้โมเดล “การให้บริการเพลงแบบครบวงจร” (Total Music Business) ตั้งแต่การคัดเลือกศิลปิน การผลิตผลงานเพลง การทำการตลาด การบริหารและจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง การจัดจำหน่ายสินค้าเพลงทั้งรูปแบบ Physical และ Digital จนกระทั้งเป็นผู้จัดคอนเสิร์ตและเฟสติวัล ตลอดจนเป็นผู้ดำเนินการบริหารศิลปิน โดยจัดหางานให้ศิลปินอย่างมืออาชีพ และยังมีสถาบันการสอนร้องเพลง ดนตรี การแสดง เพื่อพัฒนาและยกระดับไปสู่ความเป็นศิลปินมืออาชีพอย่างแท้จริง จะเห็นว่าบริษัทฯ สามารถขยายธุรกิจเพลงได้อย่างครบวงจรและสามารถสร้างรายได้หลากหลายช่องทางอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
1.1 ธุรกิจดิจิทัลมิวสิค
บริษัทฯ ดำเนินการจัดจำหน่ายเพลงในรูปแบบดิจิทัล โดยการนำคอนเทนต์เพลงเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น YouTube, Facebook, Spotify, JOOX, Apple Music, iTunes, และ Tencent Music เป็นต้น ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงเพลงผ่านระบบออนไลน์ได้ตามความต้องการ หรือดาวน์โหลดเพลงเพื่อฟังแบบออฟไลน์ขึ้นอยู่กับรูปแบบของแพลตฟอร์มนั้นๆ ปัจจุบันธุรกิจดิจิทัลมิวสิคเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยอีกด้วย
1.2 ธุรกิจบริหารศิลปิน
บริษัทฯ ดำเนินการบริหารการจัดหางานให้แก่ศิลปินทั้งในรูปแบบงานจ้าง คอนเสิร์ต การแสดงสดตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงงานพรีเซนเตอร์สินค้า โดยบริษัทฯ มีนโยบายในการฝึกทักษะพัฒนาศิลปินรอบด้านทั้งการร้องเพลง การเต้น และการแสดง เพื่อก้าวสู่การเป็นศิลปินคุณภาพสูงระดับมืออาชีพอย่างยั่งยืน
1.3 ธุรกิจการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์
บริษัทฯ ดำเนินการบริหารและจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์จากผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะนำผลงานเพลงของบริษัทฯ และค่ายเพลงพันธมิตรไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เช่น สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ ร้านอาหาร ร้านคาราโอเกะ เป็นต้น
1.4 ธุรกิจโชว์บิซ (การจัดคอนเสิร์ตและเฟสติวัล)
บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจโชว์บิซภายใต้หน่วยงาน GMM SHOW เป็นธุรกิจจัดงานแสดงคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรี บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจรับจ้างจัดกิจกรรมการแสดงในรูปแบบที่หลากหลาย ตั้งแต่งานคอนเสิร์ต วาไรตี้โชว์ งานสร้างสรรค์สื่อผสมผสานและงานแสดงอื่นๆ โดยในการดำเนินงานนั้นจะครอบคลุมถึงการคิดสร้างสรรค์งานแสดง การผลิต และวางแผนการตลาด เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างเต็มที่ โดยรายได้หลักมาจากการจำหน่ายบัตร การสนับสนุนของสปอนเซอร์ และการจัดกิจกรรมต่างๆ
งานคอนเสิร์ต ได้แก่ Genie Fest 19 ปี กว่าจะร็อกเท่าวันนี้, แบบเบิร์ดเบิร์ด ครั้งที่ 11 DREAM JOURNEY, Bodylam Fest #วิชาตัวเบา และ Peck Palitchoke Concert #2 : Love in Space
งานเทศกาลดนตรี ได้แก่ บิ๊กเม้าน์เท่น มิวสิคเฟสติวัล, นั่งเล่น มิวสิคเฟสติวัล, เชียงใหญ่เฟส, พุ่งใต้เฟส, เฉียงเหนือเฟส, นั่งเล มิวสิคเฟสติวัล, Rock Mountain, Monster Music Festival, Rock on the Beach
1.5 ธุรกิจจำหน่วยสินค้าเพลงและสินค้าศิลปิน
บริษัทฯ ดำเนินการจัดจำหน่ายสินค้าเพลง อาทิ อัลบั้ม MP3 DVD USB และ Boxset ต่างๆ รวมถึง แผ่นเสียง (Vinyl) และเครื่องเล่นไวนิล เป็นต้น โดยทำการกระจายสินค้าผ่านช่องทางร้านค้าแบบ Traditional Trade ร้านค้าแบบ Modern Trade ร้านค้าย่อย หรือ Kiosk ต่างๆ รวมถึงมีการขายสินค้าผ่าช่องทางออนไลน์ และคอลเซ็นเตอร์
ทั้งนี้บริษัทฯ ยังดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าของศิลปิน รวมถึงการจัดจำหน่ายสินค้าที่มีศิลปินร่วมกันเป็นเจ้าของ สินค้าแต่ละชิ้นจะ ผลิตจำนวนจำกัด โดยศิลปินเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์สินค้าคุณภาพ เพื่อแฟนคลับและบุคคลทั่วไป
1.6 ธุรกิจเพลงอื่นๆ
-
บริษัท วายจีเอ็มเอ็ม จำกัด
บริษัท วายจีเอ็มเอ็ม จำกัด เป็นการร่วมทุนกันระหว่างบริษัทฯ และวายจี เอ็นเตอร์เทนเมนต์ (“YG Entertainment Inc.”) เพื่อพัฒนาศิลปินแบบครบวงจรภายใต้ชื่อ YG”MM (วายจีเอ็มเอ็ม) โดยบริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 51 และมีมูลค่าทุนจดทะเบียนในบริษัทร่วมทุนดังกล่าวจำนวน 200 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างศิลปินไอดอลที่มีคุณภาพและมีความพร้อมในทุกด้านตามหลักสูตรของ YG”MM
-
GR Vocal Studio
ดำเนินธุรกิจโรงเรียนสอนร้องเพลง ดนตรี การเต้น และการแสดง “GR Vocal Studio” โดยเปิดรับสอนสำหรับบุคคลทั่วไปเพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาศิลปินและเฟ้นหาศิลปิน
2. ธุรกิจโฮมช้อปปิ้ง
บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโฮมช้อปปิ้ง ผ่านช่องรายการที่ใช้ชื่อว่า ‘จีเอ็มเอ็ม โอ ช้อปปิ้ง’ (GMM O Shopping) มีรูปแบบรายการที่เน้นการให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือและน่าสนใจ แนะนำสินค้าผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพจากทั้งในและต่างประเทศ โดยตระหนักถึงประโยชน์ผู้บริโภคเป็นสำคัญ ‘จีเอ็มเอ็ม โอ ช้อปปิ้ง’ นำเสนอสินค้าผ่านแพลตฟอร์มทั้งทีวีดิจิทัล ทีวีดาวเทียม และช่องทางออนไลน์ เพื่อสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคในยุค New Normal มุ่งสู่ Social Commerce ทำให้สามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้อย่างครอบคลุมและสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งที่สะดวกสบาย โดยลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมงผ่านทางโทรศัพท์ และออนไลน์ ตลอดจนการให้การบริการหลังการขาย
3. ธุรกิจภาพยนตร์
ธุรกิจภาพยนตร์ของบริษัทฯ ดำเนินการภายใต้ บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย (ถือหุ้น โดยบริษัทฯ 51%) โดยมีเป้าหมายผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ในเนื้อหาที่หลากหลายแตกต่างกันไปแต่ยังคงไว้ซึ่งแบบฉบับของตัวเอง จีดีเอชมีศักยภาพเด่นชัดด้านบุคลากรทีมงานที่มีความชำนาญ เพื่อนำเสนอภาพยนตร์ที่มีความแปลกใหม่และสร้างความสุขให้กับผู้ชมภาพยนตร์ไทย
ผลงานภาพยนตร์ที่โดดเด่น ได้แก่ แฟนฉัน, เพื่อนสนิท, ลัดดาแลนด์, พี่มาก..พระโขนง, อ้ายคนหล่อลวง, ร่างทรง, บุพเพสันนิวาส๒ เพิ่มเติม http://www.gmmgrammy.com/th/movie-business.php
4. ธุรกิจโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม
ดำเนินธุรกิจโครงข่ายโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมและธุรกิจจัดจำหน่ายกล่องรับสัญญาณทั้งทีวีดาวเทียม กล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน กล่องรับสัญญาณอินเทอร์เน็ตทีวี และสินค้าเครื่องเล่นเพลงประเภท Music Box และ Karaoke Microphone เพื่อสนับสนุนธุรกิจเพลงซึ่งเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัทฯ
5. ธุรกิจสื่อ
ธุรกิจสื่อของบริษัทฯ ดำเนินการภายใต้ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย (บริษัทฯ ถือหุ้น 100%) ประกอบธุรกิจสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลทีวีช่อง จีเอ็มเอ็ม 25 (GMM25) ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติหมวดหมู่ทั่วไปความคมชัดปกติ (SD) โดยมีบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้าของบริษัทฯ เป็นตัวแทนทางการตลาดผลิตคอนเทนต์ จัดหาลูกค้าและจัดจำหน่ายเวลาโฆษณาให้กับ ช่อง GMM25 และจะเป็น Flagship Company ของบริษัทฯ ในการสร้างสรรค์และผลิตคอนเทนต์ในรูปแบบ ละคร ซีรีส์ และรายการวาไรตี้ต่างๆ โดยมุ่งเน้นการออกอากาศผ่านช่องโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลทีวี ช่องวัน31 (ONE31) เป็นหลัก และรายการวิทยุผ่านช่องทางคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงในระบบ FM และช่องทางออนไลน์
Q : โครงสร้างรายได้ของบริษัทฯเป็นอย่างไร
A : โครงสร้างรายได้ของบริษัทฯ
Q : โครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทฯเป็นอย่างไร
A : โครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ มีดังนี้
ผู้ถือหุ้นรายย่อย ณ วันที่ 13/03/2566 | |
จำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free float) | 2,727 |
% การถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย (% Free float) | 14.79 |
ภาพรวมข้อมูลผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 20/03/2567 ประเภท : XM | |
จำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด | 2,547 |
% การถือหุ้นแบบไร้ใบหุ้น | 96.46 |
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่* | จำนวนหุ้น | ร้อยละ |
บริษัท ฟ้า ดำรงชัยธรรม จำกัด | 426,774,344 | 52.05 |
นาย ทวีฉัตร จุฬางกูร | 134,735,723 | 16.43 |
นาย ณัฐพล จุฬางกูร | 81,122,700 | 9.89 |
นาง หทัยรัตน์ จุฬางกูร | 56,239,200 | 6.86 |
นาย โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ | 22,720,000 | 2.77 |
UOB KAY HIAN (HONG KONG) LIMITED - Client Account | 17,932,520 | 2.19 |
ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) | 12,278,693 | 1.50 |
นาย ถกลเกียรติ วีรวรรณ | 5,299,236 | 0.65 |
บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อผู้ฝาก | 5,260,551 | 0.64 |
กองทุนเปิด บัวหลวงตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ | 4,813,400 | 0.59 |
กองทุนเปิด บัวหลวงเฟล็กซิเบิ้ลเพื่อการเลี้ยงชีพ | 4,602,600 | 0.56 |
นาย กิตติ งามมหรัตน์ | 4,207,900 | 0.51 |
* รายชื่อผู้ถือหุ้น 10 รายแรก รวมถึงผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละ 0.5 ของทุนชําระแล้วของบริษัทจดทะเบียน
Q : บริษัทฯจัดการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีเมื่อใด
A : ตามข้อบังคับของบริษัทฯ หมวดที่ 5 (การประชุมผู้ถือหุ้น) ข้อที่ 28 กำหนดว่า คณะกรรมการต้องจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเป็นการประชุมสามัญประจำปีภายใน 4 เดือน นับแต่วันสิ้นสุดของรอบปีบัญชีของบริษัท โดยปกติบมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จะจัดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี ในเดือนเมษายนของทุกปี (เพิ่มเติม)
Q : ผู้ถือหุ้นจะได้รับหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อใด
A : บริษัทฯจะเผยแพร่หนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นบนเว็บไซต์ของบริษัทฯเพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถดาวน์โหลดหนังสือเชิญประชุม และหนังสือมอบฉันทะแบบต่างๆได้ล่วงหน้าก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 30 วัน
Q : หากไม่สามารถเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นได้จะต้องดำเนินการอย่างไร
A : ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นไม่สามารถเข้าประชุมด้วยตนเองได้ ผู้ถือหุ้นสามารถมอบฉันทะให้ผู้แทนเข้าร่วมประชุมตามแบบฟอร์มหนังสือมอบฉันทะที่แนบไปกับหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นหรือสามารถดาวน์โหลดหนังสือมอบฉันทะได้จาก เว็บไซต์ของบริษัทฯ
Q : บริษัทฯมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลอย่างไร
A : แกรมมี่มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิหลังจากหักภาษีเงินได้นิติบุคคลในแต่ละปี ตามงบการเงินเฉพาะกิจการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและการดำเนินงานในอนาคต เช่น การขยายธุรกิจของบริษัทในโครงการต่างๆ ในอนาคต หรือการจ่ายเงินปันผลที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานปกติของบริษัทอย่างมีสาระสำคัญโดยการจ่ายเงินปันผลต้องไม่เกินกว่ากำไรสะสมของงบการเงินเฉพาะกิจการ แต่เนื่องจากปัจจุบันแกรมมี่อยู่ในช่วงการลงทุนในธุรกิจใหม่ จึงจำเป็นต้องงดจ่ายปันผลตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 2554 เนื่องจากต้องสำรองเงินสดไว้เพื่อใช้ในกิจการของบริษัทฯตามแผนการลงทุน Strategic Investment และจะกลับมาจ่ายปันผลอีกครั้งเมื่อบริษัทฯสามารถดำเนินการได้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ตามแผนธุรกิจ