นโยบายการกำกับดูแลบริษัทย่อยและบริษัทร่วมที่ประกอบธุรกิจหลัก

นโยบายการกำกับดูแลบริษัทย่อยและบริษัทร่วมที่ประกอบธุรกิจหลัก

บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) (“บริษัท”) ได้มีการลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย โดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) โดยมุ่งเน้นธุรกิจด้านความบันเทิงแบบครบวงจร (Integrated Entertainment) และธุรกิจเทคโนโลยีและแพลตฟอร์ม (Technology & Platform) สำหรับธุรกิจบันเทิงแบบครบวงจร โดยบริษัทมีนโยบายที่จะลงทุนในบริษัทย่อย และ/หรือบริษัทร่วมที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทตลอดจนลงทุนในบริษัทที่สอดคล้องกับเป้าหมาย วิสัยทัศน์ และแผนกลยุทธ์ในการเติบโตของบริษัท ซึ่งจะทำให้บริษัทมีผลประกอบการหรือผลกำไรเพิ่มขึ้น หรือลงทุนในธุรกิจที่เอื้อประโยชน์ (Synergy) ให้กับบริษัทและบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมของบริษัท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัท และเพื่อให้บริษัทบรรลุเป้าหมายในการเป็นผู้ประกอบการชั้นนำในธุรกิจหลักของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทย่อย และ/หรือบริษัทร่วมอาจพิจารณาลงทุนในธุรกิจอื่นเพิ่มเติมหากเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตหรือสามารถต่อยอดทางธุรกิจ หรือเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของกลุ่มบริษัท ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในการลงทุน

ในการนี้ บริษัทจึงได้กำหนดนโยบายการกำกับดูแลบริษัทย่อยและบริษัทร่วมที่ประกอบธุรกิจหลัก โดยกำหนดมาตรการและกลไก ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้บริษัทสามารถกำกับดูแลและบริหารกิจการของบริษัทย่อยและบริษัทร่วมให้นำไปสู่การมีระบบการบริหารจัดการที่ดี โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ สามารถกำหนดทิศทางการบริหารงานของบริษัทย่อยต่างๆ ที่บริษัทเข้าไปลงทุน หรือจะเข้าลงทุนในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังสามารถติดตามการบริหารและดำเนินงานของบริษัทย่อยที่เข้าไปลงทุนเพื่อการดูแลรักษาซึ่งผลประโยชน์ในการลงทุนของบริษัทได้ เสมือนว่าเป็นฝ่ายงานหรือหน่วยงานหนึ่งในองค์กรของบริษัท มาตรการและกลไกในการกำกับดูแลกิจการดังกล่าวนี้ จะเพิ่มมูลค่าและความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทว่าบริษัทย่อยและบริษัทร่วมที่บริษัทเข้าลงทุนนั้นจะดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ทั้งนี้ บริษัทได้กำหนดมาตรการดังกล่าวเพื่อการกำกับดูแลบริษัทย่อยและบริษัทร่วมที่สอดคล้องตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทย่อยและบริษัทร่วม ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ทจ. 39/2559 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ (รวมทั้งที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม) โดย “บริษัทย่อย” และ “บริษัทร่วม” ให้หมายความถึง บริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมที่ประกอบธุรกิจหลัก ซึ่งมีลักษณะตามที่กำหนดในประกาศดังกล่าว

อย่างไรก็ดี นโยบายนี้ใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย หรือกฎระเบียบใดๆ ของต่างประเทศที่มีผลใช้บังคับกับบริษัทย่อยและบริษัทร่วมดังกล่าว และเท่าที่จะไม่ทำให้บริษัทย่อยและบริษัทร่วมในต่างประเทศของบริษัทอาจจะเสียสิทธิประโยชน์ใดๆ ที่พึงได้รับตามกฎหมายต่างประเทศ โดยมีรายละเอียดมาตรการ และ/หรือกลไกกำกับดูแล ดังนี้

  1. บริษัทจะกำกับดูแลให้การทำรายการ หรือการดำเนินการใดๆ ของบริษัทย่อย และ/หรือบริษัทร่วม ในกรณีดังต่อไปนี้ จะต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกลุ่มของบริษัท ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัท และ/หรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท (แล้วแต่กรณี) ก่อนที่บริษัทย่อย และ/หรือบริษัทร่วม จะพิจารณาอนุมัติ หรือจะดำเนินการในเรื่องนั้นๆ
    1. (1) เรื่องที่จะต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกลุ่ม (Group Excom) ของบริษัทเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ก่อนเสนอที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทเพื่อรับทราบ

      การแต่งตั้งหรือเสนอชื่อบุคคลเป็นกรรมการในบริษัทย่อย และ/หรือบริษัทร่วมซึ่งเป็นบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทมีมติอนุมัติ และไม่น้อยกว่าสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท

      ทั้งนี้ ให้กรรมการของบริษัทย่อย และ/หรือบริษัทร่วมที่บริษัทเสนอชื่อหรือแต่งตั้งมีดุลยพินิจในการพิจารณาออกเสียงในการประชุมคณะกรรมการของบริษัทย่อย และ/หรือบริษัทร่วม ตามขอบเขตอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบที่คณะกรรมการของบริษัทอนุมัติ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของบริษัท บริษัทย่อย และ/หรือบริษัทร่วม (แล้วแต่กรณี) และหากกรรมการรายใดมีส่วนได้เสียในเรื่องใดทั้งทางตรง และ/หรือทางอ้อม ให้กรรมการรายดังกล่าวงดออกเสียง

    2. (2) เรื่องที่จะต้องได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกลุ่ม (Group Excom) ของบริษัทเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ก่อนเสนอที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทเพื่ออนุมัติ
      1. (ก) การแต่งตั้งหรือเสนอชื่อบุคคลเป็นกรรมการในบริษัทย่อย และ/หรือบริษัทร่วม ซึ่งมิใช่บุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทมีมติอนุมัติ หรือบริษัทมีข้อจำกัดหรือมีเหตุจำเป็นที่ทำให้ไม่สามารถส่งบุคคลเข้าเป็นกรรมการของบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วม ได้อย่างน้อยตามสัดส่วนการถือหุ้น แต่บริษัทสามารถแสดงให้เห็นถึงกลไกที่จะทำให้เชื่อมั่นได้ว่าบริษัทสามารถกำกับดูแลการบริหารจัดการ หรือการตัดสินใจในเรื่องที่มีนัยสำคัญต่อการดำเนินงานและฐานะการเงินของบริษัทย่อย และ/หรือบริษัทร่วม ตามสัดส่วนการถือหุ้นได้
        ทั้งนี้ ให้กรรมการของบริษัทย่อย และ/หรือบริษัทร่วมที่บริษัทเสนอชื่อหรือแต่งตั้งมีดุลยพินิจในการพิจารณาออกเสียงในการประชุมคณะกรรมการของบริษัทย่อย และ/หรือบริษัทร่วม ตามขอบเขตอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบซึ่งคณะกรรมการของบริษัทอนุมัติ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของบริษัท บริษัทย่อย และ/หรือบริษัทร่วม (แล้วแต่กรณี) และหากกรรมการรายใดมีส่วนได้เสียในเรื่องใดทั้งทางตรง และ/หรือทางอ้อม ให้กรรมการรายดังกล่าวงดออกเสียง
      2. (ข) การพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินปันผลประจำปี และเงินปันผลระหว่างกาล (หากมี) ของบริษัทย่อย เว้นแต่เป็นกรณีที่บริษัทย่อยจ่ายเงินปันผลเป็นจำนวนรวมทั้งปี ไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในงบประมาณรวมประจำปีของแต่ละบริษัทย่อย หรือเป็นไปตามนโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัทย่อย ซึ่งได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทแล้ว (หากมี)
      3. (ค) การแก้ไขข้อบังคับของบริษัทย่อย เว้นแต่เป็นการแก้ไขข้อบังคับเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนด ทั้งนี้ หากเป็นการแก้ไขข้อบังคับในเรื่องที่มีนัยสำคัญตามข้อ 1(4)(ก) จะต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท
      4. (ง) การพิจารณาอนุมัติงบประมาณรวมประจำปีของบริษัทย่อยทั้งหมด เว้นแต่ที่เป็นกรณีที่ได้มีการกำหนดไว้ในระเบียบอำนาจอนุมัติและดำเนินการ (Corporate Authority Index) ที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทแล้ว
      5. (จ) การแต่งตั้งผู้สอบบัญชีของบริษัทย่อย เฉพาะกรณีที่ผู้สอบบัญชีดังกล่าวไม่ได้อยู่ในสังกัดสำนัก งานสอบบัญชีที่เป็นสมาชิกประเภทเต็มรูปแบบ (Full Member) ในเครือข่ายเดียวกันกับผู้สอบบัญชีของบริษัท ซึ่งไม่เป็นไปตามนโยบายการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีของบริษัทที่ผู้สอบบัญชีของบริษัทย่อยจะต้องสังกัดสำนักงานสอบบัญชีในเครือข่ายเดียวกันกับผู้สอบบัญชีของบริษัท
    3. (3) เรื่องที่จะต้องได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัท และ/หรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท ก่อนที่บริษัทย่อยจะพิจารณาอนุมัติ หรือจะดำเนินการในเรื่องนั้นๆ โดยขึ้นอยู่กับขนาดรายการที่จะเข้าทำเปรียบเทียบกับขนาดของบริษัทตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ และ/หรือรายการที่เกี่ยวโยงกัน (แล้วแต่กรณี) ของคณะกรรมการกำกับตลาดทุนและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยอนุโลม
      1. (ก) การเพิ่มทุนของบริษัทย่อย และการจัดสรรหุ้น รวมทั้งการลดทุนจดทะเบียน และ/หรือเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วของบริษัทย่อย ซึ่งไม่เป็นไปตามสัดส่วนการถือหุ้นเดิมของผู้ถือหุ้น หรือส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นเดิมของบริษัทเปลี่ยนแปลงไป หรือสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทลดลง
      2. (ข) กรณีที่บริษัทย่อยตกลงเข้าทำรายการกับบุคคลที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทหรือบริษัทย่อย หรือรายการที่เกี่ยวกับการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินของบริษัทย่อย ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงกรณีดังต่อไปนี้
        1. (1) การโอน หรือสละสิทธิประโยชน์ รวมถึงการสละสิทธิเรียกร้องที่มีต่อผู้ที่ก่อความเสียหายแก่บริษัทย่อย
        2. (2) การขาย หรือโอนกิจการของบริษัทย่อยทั้งหมดหรือบางส่วนที่สำคัญให้แก่บุคคลอื่นที่ไม่ใช่บริษัท และ/หรือบริษัทย่อยภายในกลุ่มของบริษัท
        3. (3) การซื้อ หรือการรับโอนกิจการของบริษัทอื่นที่ไม่ใช่บริษัท และ/หรือบริษัทย่อยภายในกลุ่มของบริษัทมาเป็นของบริษัทย่อย
        4. (4) การเข้าทำ แก้ไข หรือเลิกสัญญาเกี่ยวกับการให้เช่ากิจการของบริษัทย่อยทั้งหมด หรือบางส่วนที่สำคัญ การมอบหมายให้บุคคลอื่นเข้าจัดการธุรกิจของบริษัทย่อย หรือการรวมกิจการของบริษัทย่อยกับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่บริษัท และ/หรือบริษัทย่อยภายในกลุ่มของบริษัท โดยมีวัตถุประสงค์จะแบ่งกำไรขาดทุนกัน
        5. (5) การเช่า การเช่าซื้อ หรือให้เช่าซื้อกิจการ หรือทรัพย์สินของบริษัทย่อยทั้งหมด หรือส่วนที่มีสำระสำคัญ
      3. (ค) การกู้ยืมเงิน การให้กู้ยืมเงิน การให้สินเชื่อ การค้ำประกัน การทำนิติกรรมผูกพันบริษัทย่อยให้ต้องรับภาระทางการเงินเพิ่มขึ้น หรือการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินในลักษณะอื่นใดแก่บุคคลอื่น และมิใช่ธุรกิจปกติของบริษัทย่อย เว้นแต่เป็นการกู้ยืมเงินระหว่างบริษัท และบริษัทย่อย หรือระหว่างบริษัทย่อยภายในกลุ่มของบริษัท
      4. (ง) การเลิกกิจการของบริษัทย่อย
      5. (จ) รายการอื่นใดที่ไม่ใช่รายการธุรกิจปกติของบริษัทย่อย และเป็นรายการที่จะมีผลกระทบต่อบริษัทหรือบริษัทย่อยอย่างมีนัยสำคัญ
    4. (4) เรื่องที่จะต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ (3/4) ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุม และมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
      1. (ก) การแก้ไขข้อบังคับของบริษัทย่อยในเรื่องที่อาจส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญต่อฐานะการเงิน ผลการดำเนินงานของบริษัท หรือการกำกับดูแลการบริหารจัดการบริษัทย่อย อันเนื่องมาจากการเข้าทำรายการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทย่อยและมีขนาดรายการที่จะต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ของคณะกรรมการกำกับตลาดทุนและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

      ในกรณีที่นโยบายนี้กำหนดให้การทำรายการหรือการดำเนินการใดๆ จะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการของบริษัท และ/หรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท (แล้วแต่กรณี) ให้กรรมการของบริษัทมีหน้าที่ในการจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการของบริษัท และ/หรือการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท เพื่อพิจารณาอนุมัติเรื่องดังกล่าวก่อนที่บริษัทย่อยจะจัดประชุมคณะกรรมการ และ/หรือประชุมผู้ถือหุ้นของตนเองเพื่อพิจารณาอนุมัติ หรือจะดำเนินการในเรื่องนั้นๆ และให้บริษัทเปิดเผยข้อมูล รวมถึงปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะขออนุมัตินั้น ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประกาศ ข้อบังคับ และหลักเกณฑ์ต่างๆ ของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยอนุโลมด้วย (ทั้งนี้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกัน)

  2. บริษัทจะกำกับดูแลให้บริษัทย่อยมีระบบการควบคุมภายใน ระบบบริหารความเสี่ยง ระบบป้องกันการทุจริต และระบบงานอื่นๆ ที่จำเป็นและเหมาะสมและรัดกุมเพียงพอ รวมถึงกำหนดให้มีมาตรการในการติดตามผลการดำเนินงานของบริษัทย่อยที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และรัดกุมเพียงพอ นอกจากนี้ บริษัทจะจัดให้มีกลไกในการตรวจสอบระบบงานดังกล่าวในบริษัทย่อย โดยให้ทีมงานผู้ตรวจสอบภายใน กรรมการ และผู้บริหารของบริษัทสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยตรง และให้มีการรายงานผลการตรวจสอบระบบงานดังกล่าวให้กรรมการและผู้บริหารของบริษัท เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบริษัทย่อยมีการปฏิบัติงานตามระบบที่จัดทำไว้อย่างสม่ำเสมอ
  3. บริษัทจะกำกับดูแลให้กรรมการของบริษัทย่อยที่บริษัทเสนอชื่อหรือแต่งตั้ง และผู้บริหารของบริษัทย่อยที่เป็นตัวแทนของบริษัท ต้องเป็นบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในระบบข้อมูลรายชื่อกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ (Whitelist) รวมถึงมีคุณสมบัติ บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบ ตามหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนไม่มีลักษณะที่ขาดความน่าไว้วางใจตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดลักษณะขาดความไม่น่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท
  4. คณะกรรมการของบริษัทจะกำกับดูแลให้กรรมการของบริษัทย่อย และ/หรือบริษัทร่วม ที่ได้รับการเสนอชื่อหรือแต่งตั้งโดยบริษัท มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
    1. (1) กำกับดูแลให้บริษัทย่อย และ/หรือบริษัทร่วม ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมีการบริหารจัดการที่ดี และปฏิบัติตามนโยบายของบริษัท
    2. (2) เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน การทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน รายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ตลอดจนการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินที่มีนัยสำคัญ และ/หรือ รายการที่มีนัยสำคัญอื่นใดของบริษัทย่อย ให้แก่บริษัททราบโดยครบถ้วน ถูกต้อง และภายในกำหนดเวลาที่สมควรตามที่บริษัทกำหนด
    3. (3) เปิดเผยและนำส่งข้อมูลส่วนได้เสียของตน และบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องต่อคณะกรรมการของบริษัทหรือบริษัทย่อย ให้ทราบถึงความสัมพันธ์ และการทำธุรกรรมกับบริษัท และ/หรือบริษัทย่อย ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และหลีกเลี่ยงการทำรายการที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยกรรมการของบริษัทย่อยมีหน้าที่แจ้งเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการของบริษัททราบภายในกำหนดเวลาที่บริษัทกำหนด เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินหรืออนุมัติใดๆ ซึ่งการพิจารณานั้นจะคำนึงถึงประโยชน์โดยรวมของบริษัทและบริษัทย่อยเป็นสำคัญ
      ทั้งนี้ กรรมการและผู้บริหารของบริษัทย่อยต้องไม่มีส่วนร่วมอนุมัติในเรื่องที่ตนเองมีส่วนได้เสียหรือความขัดแย้งทางผลประโยชน์ทั้งทางตรง และ/หรือทางอ้อม นั้นด้วย
    4. (4) รายงานแผนการประกอบธุรกิจ การขยายธุรกิจ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ตามที่ได้รับการอนุมัติจากบริษัท การลดขนาดธุรกิจ การเลิกประกอบธุรกิจ การหยุดการดำเนินงานของหน่วยงาน ตลอดจนการเข้าร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ต่อบริษัท ผ่านรายงานผลการดำเนินงานประจำเดือนหรือไตรมาส และเข้าชี้แจงและ/หรือนำส่งเอกสารประกอบการพิจารณากรณีดังกล่าวในกรณีที่บริษัทร้องขอ
    5. (5) เข้าชี้แจงและ/หรือนำส่งข้อมูล หรือเอกสารที่เกี่ยวด้วยการดำเนินงานให้แก่บริษัท เมื่อได้รับการร้องขอตามความเหมาะสม
    6. (6) เข้าชี้แจงและ/หรือนำส่งข้อมูล หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องให้แก่บริษัท ในกรณีที่บริษัทตรวจพบประเด็นที่มีนัยสำคัญใดๆ

นอกจากนี้ บริษัทฯ จะจัดให้มีการทบทวนนโยบายการกำกับดูแลบริษัทย่อยและบริษัทร่วมที่ประกอบธุรกิจหลักฉบับนี้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์และธุรกิจของบริษัท ข้อกำหนดทางกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และแนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติม

คณะกรรมการของบริษัทได้พิจารณาและอนุมัติการแก้ไขนโยบายการกำกับดูแลบริษัทย่อยและบริษัทร่วมที่ประกอบธุรกิจหลักนี้ ในการประชุมคณะกรรมการของบริษัทครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป