นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี
การกำกับดูแลกิจการ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่มีเจตนารมณ์และมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รวมถึง ข้อเสนอแนะจากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการ บริษัทไทย (IOD) ตามรายงาน Corporate Governance Assessment Report ซึ่งส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนปฏิบัติ เพื่อเสริมสร้างองค์กร ให้มีระบบบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ สร้างความเป็นธรรม สร้างความมั่นใจในการลงทุนและสร้างมูลค่าในระยะยาวให้แก่ผู้ถือหุ้น และสร้าง ความมั่นใจต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย เป็นพื้นฐานให้บริษัทฯ พัฒนาและบริหารจัดการองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และก่อเกิดผลประโยชน์ สูงสุด นำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทฯ ให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ภาพรวมของนโยบายและแนวปฏิบัติการกำกับดูแลกิจการ
คณะกรรมการบริษัทยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักจริยธรรมในการประกอบธุรกิจ และแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี ควบคู่ไปกับ มีความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย โดยคณะกรรมการบริษัทมุ่งมั่นที่จะเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติ ตามหลักบรรษัทภิบาลและจริยธรรมในการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร โดยมีการบูรณาการกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ กลยุทธ์ และเป้าหมายขององค์กร ซึ่งคณะกรรมการบริษัทเชื่อมั่นว่าการดำเนินธุรกิจตามหลักบรรษัทภิบาลที่ดี จะเป็นระบบการบริหาร จัดการที่ก่อให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ ซึ่งจะสามารถสร้างผลตอบแทนและเพิ่มมูลค่าระยะยาวให้แก่ผู้ถือหุ้น รวมถึง เพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย นำไปสู่การสร้างความเจริญก้าวหน้าในเชิงธุรกิจ และยกระดับขีดความสามารถ ในการแข่งขันของบริษัทฯ ให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและส่งเสริมการศึกษา การกีฬา ชุมชน สังคมและ สิ่งแวดล้อม
คณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาโดยตลอด โดยได้จัดทำนโยบายกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจ ของบริษัทฯ และข้อพึงปฏิบัติในการทำงาน (ฉบับพกพา) ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2548 โดยให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนรับทราบ และถือปฏิบัติ ซึ่งได้มีการทบทวนและปรับปรุงอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย แนวปฏิบัติที่ดี การดำเนินธุรกิจ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนปี 2560 (CG Code) ของ ก.ล.ต. ตามหลักเกณฑ์ของ ตลท. และข้อเสนอแนะจากรายงาน Corporate Governance Assessment Report ของ (IOD) รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลต่าง ๆ ที่อาจกำหนดขึ้นเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการยกระดับแนวทางการกำกับดูแลกิจการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยฉบับปัจจุบันเป็นฉบับปรับปรุงครั้งที่ 8/2566 ซึ่งใช้ชื่อว่า “คู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจ (Corporate Governance and Business Ethics Manual หรือ คู่มือ CG)”
ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจของบริษัทฯ มีหน้าที่ติดตามและกำกับดูแลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัท และคณะจัดการของบริษัทฯ ให้เป็นไปตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจที่บริษัทฯ กำหนดไว้ รวมถึงเป็นผู้พิจารณา ทบทวนคู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจของกลุ่มบริษัท ให้สอดคล้องกับหลักปฏิบัติตาม CG Code เพื่อนำเสนอต่อ คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาอนุมัติทบทวนเป็นประจำทุกปี สำหรับหลักปฏิบัติตาม CG Code ในเรื่องใดที่บริษัทฯ ยังไม่ได้มีการกำหนด เป็นนโยบายหรือยังไม่ได้นำไปปฏิบัติ คณะกรรมการบริษัทจะระบุเหตุผลและมาตรการทดแทน (ถ้ามี) ในมติคณะกรรมการบริษัททุกครั้ง
นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทฯ ที่กำหนดใน คู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจ สรุปได้ดังนี้
- คณะกรรมการบริษัท ผู้บริหารและพนักงานทุกคนยึดมั่นในการปฏิบัติตามกฎหมายและนำหลักการกำกับดูแลที่ดีมาปรับใช้ในการ ดำเนินงานโดยบูรณาการกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ กลยุทธ์ และเป้าหมายระยะยาวขององค์กร ตลอดจนเสริมสร้างองค์กรให้มีระบบบริหารงาน ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย
- คณะกรรมการบริษัทเคารพสิทธิและปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกันและเป็นธรรม ตลอดจนอำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือหุ้น ในการใช้สิทธิในเรื่องต่างๆ
- คณะกรรมการบริษัทส่งเสริมกระบวนการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีระหว่างบริษัทฯ กับผู้มีส่วนได้เสีย พร้อมทั้งกำหนดช่องทางที่เหมาะสมในการสื่อสารระหว่างกัน
- คณะกรรมการบริษัทกำหนดนโยบายและจริยธรรมธุรกิจของบริษัทฯ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติต่าง ๆ ต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย อาทิ ผู้ถือหุ้น ลูกค้า เจ้าหนี้ พนักงาน ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
- คณะกรรมการบริษัทมีบทบาทในการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และพิจารณาอนุมัติแนวทางการกำหนดกลยุทธ์ นโยบาย แผนธุรกิจ และงบประมาณ ตลอดจนกำกับและควบคุมดูแลให้ฝ่ายจัดการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้ เพื่อประโยชน์ของบริษัทฯ และ ผู้ถือหุ้นโดยรวม
- คณะกรรมการบริษัทจัดให้มีโครงสร้างองค์กร การแบ่งแยกหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการชุดย่อย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม และฝ่ายจัดการอย่างชัดเจน ตลอดจนจัดให้มีระบบการควบคุมภายในและการตรวจสอบภายใน ระบบการบริหารความเสี่ยง ระบบการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ รวมทั้งการป้องกันการใช้ข้อมูลภายในที่เหมาะสมและเพียงพอ
- คณะกรรมการบริษัทกำกับดูแลให้จัดทำงบการเงินและสารสนเทศทางการเงินให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป และมีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญอย่างเพียงพอและเชื่อถือได้ ตลอดจนจัดให้มีผู้สอบบัญชีที่มีความสามารถและมีความเป็นอิสระ
- คณะกรรมการบริษัทดูแลให้บริษัทฯ มีการสื่อสารและเปิดเผยข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ ทั้งข้อมูลทางการเงินและข้อมูลที่มิใช่ข้อมูลทางการเงินอย่างเพียงพอ ถูกต้อง ครบถ้วน เชื่อถือได้ โปร่งใส ทั่วถึง และทันเวลา ผ่านช่องทางต่าง ๆ และฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ที่สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกและเท่าเทียมกัน
- คณะกรรมการบริษัทอาจแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยตามความเหมาะสม เพื่อช่วยพิจารณากลั่นกรองงานที่มีความสำคัญและรายงานผลการปฏิบัติงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงรายงานการปฏิบัติงาน เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้รับทราบในรายงานประจำปีของบริษัทฯ
- คณะกรรมการบริษัทจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปีของกรรมการ กรรมการชุดย่อย อาทิ คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง เป็นต้น เพื่อใช้เป็นกรอบในการตรวจสอบการปฏิบัติงานในระหว่างปีที่ผ่านมา เพื่อสามารถนำมาแก้ไขและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยนำเสนอผลการประเมินที่ได้ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อรับทราบ
- คณะกรรมการบริษัทจัดให้มีระบบการคัดสรรบุคลากรในตำแหน่งบริหารที่สำคัญทุกระดับอย่างเหมาะสม โปร่งใส และเป็นธรรม
- คณะกรรมการบริษัทมีบทบาทสำคัญในการจัดให้มีคู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน รับทราบ ทำความเข้าใจและยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และมีมาตรการในการติดตามดูแลให้มีการปฏิบัติตาม
การติดตามดูแลให้มีการปฏิบัติตามนั้น คณะกรรมการบริษัทกำหนดให้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน ทุกคนที่จะต้องรับทราบ ทำความเข้าใจ และปฏิบัติตามนโยบายและข้อปฏิบัติตามที่กำหนดในคู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจ อย่างเคร่งครัด โดยผู้บริหารในทุกระดับขององค์กรต้องรับผิดชอบ และให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเพื่อให้พนักงานในสังกัดพึงปฏิบัติตาม อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทยังส่งเสริมให้เผยแพร่วัฒนธรรมในการกำกับดูแลกิจการที่ดี และจริยธรรมธุรกิจให้เป็นที่เข้าใจทั่วทุกระดับ ในองค์กร และมีผลในทางปฏิบัติภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักจริยธรรม โดยให้จัดทำคู่มือการกำกับ ดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจ และเผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น อีเมล อินทราเน็ตของกลุ่มบริษัท เว็บไซต์ของบริษัทฯ ตลอดจน จัดอบรมความรู้พื้นฐานเรื่องการกำกับดูแลกิจการให้กับพนักงานเข้าใหม่ เพื่อให้ผู้บริหารและพนักงานทุกคนรับทราบ ทำความเข้าใจ และ ยึดถือเป็นหลักในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ โปร่งใส ซื่อสัตย์ ระมัดระวังและมีจริยธรรม ทั้งต่อตนเอง องค์กร ผู้ถือหุ้น และผู้มี ส่วนได้เสียอื่น รวมทั้งส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ปลูกจิตสำนึกในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวัง และซื่อสัตย์สุจริตภายใต้นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจของบริษัทฯ
ทั้งนี้ สามารถศึกษาข้อมูลด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจของบริษัทฯ ได้จาก
https://grammy-th.listedcompany.com/misc/cg-e-book/grammy-cg-manual-th.pdf