การควบคุมภายในและการบริหารจัดการความเสี่ยง

การควบคุมภายในและการบริหารจัดการความเสี่ยง

การควบคุมภายใน

คณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญต่อระบบการควบคุมภายใน จึงได้จัดให้มีระบบการควบคุมภายในที่ครอบคลุมทั้งในด้านการเงิน การบริหาร การดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง และมุ่งเน้นให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางของ COSO (The Committee of Sponsoring Organizations of the Treadway Commission) โดยครอบคลุม ด้านการควบคุมภายในองค์กร (Control Environment) การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) การควบคุมการปฏิบัติงาน (Control Activities) ระบบสารสนเทศ และการสื่อสารข้อมูล (Information and Communication) ตลอดจนระบบการติดตาม (Monitoring Activities)

คณะกรรมการบริษัท และผู้บริหารได้กำหนดนโยบายกำกับกิจการที่ดี และจริยธรรมธุรกิจ (Corporate Governance & Code of Ethic) นอกจากนี้มีการกำหนดโครงสร้าง ภาระหน้าที่ อำนาจอนุมัติดำเนินการของผู้ปฏิบัติงาน ผู้บริหารไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน มีการควบคุมดูแลการใช้ทรัพย์สินของบริษัทฯ ให้เกิดประโยชน์ และมีการแบ่งแยกหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ติดตามควบคุม และการประเมินผลออกจากกัน เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลและตรวจสอบระหว่างกันอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังจัดให้มีระบบการรายงานทางการเงินตามสายงานที่รับผิดชอบ และมีช่องทางสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ มีช่องทางการร้องเรียน (Whistleblower) อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการตรวจสอบที่ได้รับการแต่งตั้งโดยมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ตามแนวทางที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด ซึ่งปัจจุบันประกอบด้วยกรรมการอิสระจำนวน 4 ท่าน และมีผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตรวจสอบภายในทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการ ตรวจสอบ โดยคณะกรรมการตรวจสอบมีขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบในการสอบทานงบการเงิน การเปิดเผยข้อมูลในรายงานทางการเงิน และรายการที่มีความเกี่ยวโยงกันหรือมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ให้มีความถูกต้อง ครบถ้วน เชื่อถือได้ และประสานงานกับฝ่ายตรวจสอบภายใน ผู้สอบบัญชี และฝ่ายบริหารของบริษัทฯ ในการสอบทานระบบการควบคุมภายใน และดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมาย และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงานการประเมินผลการปฏิบัติงานและผลตอบแทนของฝ่ายตรวจสอบภายใน และคัดเลือกและเสนอแต่งตั้งผู้สอบบัญชีและค่าสอบบัญชีประจำปี รวมทั้ง ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมาย และมีการประเมินผลการปฏิบัติงานตนเองของคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อให้แน่ใจว่าคณะกรรมการตรวจสอบได้ปฏิบัติหน้าที่ตามขอบเขตที่ได้รับมอบหมายอย่างครบถ้วนและมีประสิทธิผล

คณะกรรมการบริษัทได้ใช้แบบประเมินความเพียงพอของระบบการควบคุมภายในที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ เป็นแนวทางในการประเมินความเพียงพอของระบบการควบคุมภายในของบริษัทฯ และบริษัทย่อย และรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทอย่างน้อยปีละครั้ง โดยมีการเปิดเผยผลการประเมินฯ ไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (56-1) และรายงานประจำปีของบริษัทฯ

คณะกรรมการบริษัท และ ฝ่ายบริหาร ได้ร่วมประเมินความเพียงพอของระบบการควบคุมภายใน ระหว่างปี พ.ศ. 2564 โดยในการประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งมีคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการตรวจสอบ ฝ่ายบริหาร ร่วมประชุมเพื่อพิจารณา รับทราบผลประเมินความเพียงพอของระบบการควบคุมภายในของ บริษัทฯ และบริษัทย่อย ที่ฝ่ายบริหารของบริษัทฯ กำหนดขึ้นในด้านต่าง ๆ 5 ส่วน กล่าวคือ การควบคุมภายในองค์กร การประเมินความเสี่ยง การควบคุมการปฏิบัติงาน ระบบสารสนเทศและการสื่อสารข้อมูล และ ระบบการติดตาม คณะกรรมการบริษัทมีความเห็นเช่นเดียวกับคณะกรรมการตรวจสอบ กล่าวคือ

“โดยรวมบริษัทฯ และบริษัทย่อย มีระบบการควบคุมภายในที่เพียงพอ และเหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ ได้จัดให้มีบุคลากรอย่างเพียงพอที่จะดำเนินการตามระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีระบบควบคุมภายในในเรื่องการติดตามควบคุมดูแลการดำเนินงานของบริษัทย่อยให้สามารถป้องกันทรัพย์สินของบริษัทฯ และบริษัทย่อยจากการที่กรรมการ หรือผู้บริหารนำไปใช้โดยมิชอบ หรือโดยไม่มีอำนาจ รวมถึงการทำธุรกรรมกับบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง และบุคคลที่เกี่ยวโยงอย่างเพียงพอแล้ว สำหรับการควบคุมภายในในหัวข้ออื่น คณะกรรมการฯ เห็นว่าบริษัทฯ มีการควบคุมภายในที่เพียงพอแล้วเช่นกัน คณะกรรมการตรวจสอบและฝ่ายบริหารได้ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี การควบคุมภายใน และการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริษัทฯ มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีการควบคุมภายในที่เพียงพอเหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจ มีการบริหารความเสี่ยงในระดับที่ยอมรับได้ ระบบบัญชีและรายงานทางการเงินมีความถูกต้องเชื่อถือได้ รวมทั้งการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ”

หัวหน้างานตรวจสอบภายใน

ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 3/2549 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2549 ได้แต่งตั้งนายวิชัย สันทัดอนุวัตร ให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการ คณะกรรมการตรวจสอบ และดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายในของบริษัทฯ จนถึงปัจจุบัน คณะกรรมการตรวจสอบได้พิจารณา แล้วว่า นายวิชัย สันทัดอนุวัตร มีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานด้านการตรวจสอบภายในในธุรกิจของบริษัทฯ มาเป็นระยะเวลานาน และ มีความเข้าใจในกิจกรรม และการดำเนินงานของบริษัทฯ เป็นอย่างดี จึงเห็นว่ามีความเหมาะสมที่จะปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม เพียงพอ ทั้งนี้ในปัจจุบัน การพิจารณาและอนุมัติ แต่งตั้ง ถอดถอน โยกย้าย รวมถึงพิจารณาประเมินผลการปฏิบัติงาน และผลตอบแทนผู้ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายในของบริษัทฯ จะต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการตรวจสอบ โดยคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่ง หัวหน้างานตรวจสอบภายในปรากฎในรายละเอียดเกี่ยวกับหัวหน้างานตรวจสอบภายใน

การบริหารจัดการความเสี่ยง

ปัจจัยความเสี่ยง

คณะกรรมการบริษัท ได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการบริหารความเสี่ยงทั้งในระดับองค์กร และระดับปฏิบัติการ ภายใต้นโยบายและกรอบการบริหารความเสี่ยง ที่กลุ่มบริษัทฯ กำหนดขึ้น เพื่อให้คงเหลือความเสี่ยงในระดับที่ยอมรับได้และเหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมต่างๆ ของลักษณะงานหรือกิจกรรมต่างๆ ของแต่ละหน่วยงาน โดยส่งเสริมให้ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับมีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว รวมทั้งสนับสนุนให้มีระบบการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร และปลูกฝังให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของ กลุ่มบริษัทฯ โดยมีฝ่ายบริหารความเสี่ยงทำหน้าที่พัฒนาระบบการบริหารความเสี่ยงให้เป็นไปตามแนวทางสากล และบูรณาการแนวทางการบริหารความเสี่ยงในแต่ละระดับร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง อนึ่งกลุ่มบริษัทฯ ได้มีการดำเนินการตามแนวทางการบริหารความเสี่ยงต่างๆ มาเป็นลำดับ ตลอดจนมีการรายงานและติดตามผลการบริหารความเสี่ยงขององค์กรต่อคณะกรรมการบริษัทอย่างสม่ำเสมอ

โดยระหว่างปี 2564 กลุ่มบริษัทฯ มีการทบทวนและปรับปรุงกลยุทธ์ในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นทั้งในธุรกิจใหม่และธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัทฯ เช่น ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและกระบวนการทำงานตลอดจนพัฒนาบุคลากรทั้งในระดับสูงและระดับกลาง เพื่อเสริมทีมในการบริหารจัดการธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ให้ทันกับการขยายธุรกิจที่มีอย่างรวดเร็ว

ความเสี่ยงในระดับองค์กร (Corporate Risk)

1. ความเสี่ยงจากการถูกละเมิดลิขสิทธิ์

ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อธุรกิจเพลง ธุรกิจภาพยนตร์ ไปจนถึงผู้สร้างสรร และผู้ผลิต Content ทั่วโลก ในแต่ละปีกลุ่มบริษัทฯ ประสบปัญหาจากการถูกลักลอบนำผลงานเพลงไปเผยแพร่ต่อสาธารณชน และทำซ้ำแล้วนำออกจำหน่ายในราคาถูก ไปจนถึงปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ที่มีการพัฒนาไปพร้อมกับเทคโนโลยี เช่น การนำผลงานของบริษัทฯ ไปใช้ประโยชน์เพื่อการค้าผ่านอินเทอร์เน็ตผ่าน Platform ต่างๆ ทำให้กลุ่มบริษัทฯ ต้องเสียโอกาสจากการดำเนินธุรกิจเป็นจำนวนเงินที่สูงในแต่ละปี

ที่ผ่านมาภาครัฐได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันและปราบปรามปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างจริงจัง ต่อเนื่อง โดยมีการเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำผิด ตลอดจนการให้รางวัลนำจับแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือผู้ที่ทำการชี้เบาะแสแหล่งผลิต แหล่งขาย หรือแหล่งเก็บสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย พร้อมกันนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งได้แก่ ผู้ประกอบการ เจ้าของผลงานและศิลปินได้ร่วมมือกันผลักดันกระตุ้นและเชิญชวนให้ผู้บริโภคหันมาเลือกซื้อสินค้าลิขสิทธิ์ และลดการสนับสนุนสินค้าที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ต่างๆ

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทฯ ได้พัฒนาสินค้าและบริการตลอดจนช่องทางการจัดจำหน่ายบริการ เช่น การให้บริการดาวน์โหลดประเภทต่างๆ เช่น เสียงเรียกเข้า (Ringtone) เสียงรอสาย (Ringback Tone) เพลงเต็ม (Full Song) และมิวสิค วีดีโอ (Full MV) ทั้งแบบรายเพลง (A la carte) และแบบเหมาจ่ายรายเดือน (Subscription Service) ทั้งบนระบบ iOS และ Android รวมทั้งยังได้ขยายช่องทางการเข้าถึงคอนเทนต์ของกลุ่มบริษัทฯ ผ่าน GMM Grammy Official Account ทาง YouTube รวมถึง Application ต่างๆ อีกด้วย นอกจากนี้บริษัทฯ ได้พัฒนาดิจิทัล Content รูปแบบใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง และร่วมมือกับทุก ๆ แพลตฟอร์มที่มีอยู่ในการเผยแพร่ผลงานต่างๆ ของบริษัท เช่น การผลิตสติกเกอร์เพลง (Music Sticker) บนแพลตฟอร์ม LINE รวมถึงการผลิต Artist Content เพื่อถ่ายทอดตัวตนของศิลปินให้ได้ใกล้ชิดกับศิลปินมากขึ้น ช่วยเสริมสร้างความซื่อสัตย์ และจงรักภักดี (Royalty) ต่อตัวศิลปิน ซึ่งจะนำไปสู่การซื้อสินค้าถูกลิขสิทธิ์ ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว และทันต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้บริโภค และสามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มบริษัทฯ ได้

ในส่วนของธุรกิจภาพยนตร์ ทางกลุ่มบริษัทฯ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากโรงภาพยนตร์ในการออกมาตรการต่างๆ เพื่อลดการลักลอบบันทึกภาพยนตร์อย่างผิดกฎหมาย และจากความร่วมมืออย่างจริงจังระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง กอร์ปกับกลุ่มบริษัทฯ ได้พัฒนาสินค้าเพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อเลือกหาได้สะดวกในราคาที่ไม่แตกต่างจากสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ทำให้สินค้าของกลุ่มบริษัทฯ ถูกละเมิดลิขสิทธิ์น้อยลง

2. ความเสี่ยงจากการไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง จากกรณีเกิดเหตุสุดวิสัย

ในปี 2564 ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด 19) ทำให้ธุรกิจต่างได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง หลายธุรกิจไม่สามารถดำเนินธุรกิจตามปกติ หลายธุรกิจต้องมีการปรับตัว ไปจนถึงการดำเนินชีวิต การทำงานของคน ที่ต้องปรับตัวตามวิถีปกติใหม่ (New Normal) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฯ ตามแนวทางที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) กลุ่มบริษัท ได้ให้ความสำคัญกับสถานการณ์ดังกล่าว อย่างมาก เนื่องจากมีผลต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท และได้กำหนดกระบวนการ แนวทางต่างๆ ทางธุรกิจในด้านต่างๆ ของกลุ่มบริษัทฯ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และไม่หยุดชะงัก เพื่อรองรับเหตุการณ์ดังกล่าว รวมไปถึงเหตุสุดวิสัยต่างๆ เช่น ภัยทางธรรมชาติ ภัยจากมนุษย์ ภัยจากเทคโนโลยี ระบบคอมพิวเตอร์ล่ม การประท้วงการจราจล การออกกฎหมายใหม่ เป็นต้น

บริษัท ฯ มีการวางแผนงาน ศึกษา และได้นำเทคโนโลยีการจัดงานคอนเสิร์ตในลักษณะ Virtual Concert มาใช้ในช่วงที่มีการแพร่ระบาด นอกจากนั้น ยังได้กำหนดมาตรการที่สำคัญต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการจัดงาน ให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และดำเนินการตามแนวทางที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) กำหนด หากได้รับอนุญาตให้กลับมาจัดคอนเสิร์ตได้ และ ในขณะที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอย่างรุนแรงนั้น บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญกับชีวิต และสุขภาพของพนักงาน จึงได้กำหนดให้พนักงานทำงานที่บ้าน (Work From Home) และใช้การติดต่อสื่อสารผ่านระบบสารสนเทศของบริษัท และ Application ต่างๆ ทำให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นบริษัทได้กำหนดสถานที่ปฏิบัติงานสำรอง (Disaster Recovery Site)และซักซ้อมวิธีการแก้ไขปัญหากู้ระบบสารสนเทศเป็นประจำทุกปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่า บุคลากร ระบบงาน สถานที่ทำงานมีความพร้อม และสามารถกลับเข้าดำเนินงานปกติได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ช่วยลดความเสี่ยง ต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุสุดวิสัย ที่ทำให้ธุรกิจไม่สามารถดำเนินไปได้

3. ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภคที่รวดเร็ว

ปัจจุบันเทคโนโลยี และพฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีผลต่อธุรกิจของกลุ่ม ซึ่งบริษัทได้ปรับกระบวนการทำงานภายในของบริษัท รวมถึงโครงสร้างของกลุ่มบริษัทฯ เพื่อสร้างสรรค์สินค้า และบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า รวมทั้งสื่อสารส่งต่อผ่านทุกช่องทาง เพื่อเข้าถึง และเชื่อมโยงไปยังลูกค้าให้ได้มากที่สุด นอกจากนั้นกลุ่มบริษัท ได้ศึกษา และติดตามการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภค และได้ร่วมมือกับทุกแพลตฟอร์มที่มีอยู่ในอุตสาหกรรม เพื่อนำเสนอสินค้า และบริการต่างๆ ของบริษัทฯ ให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด

การเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภค ส่งผลกระทบต่อการกระบวนการทำงานภายในของบริษัท ดังนั้นจึงอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงจากการที่กลุ่มบริษัทฯ ไม่สามารถปรับกระบวนการทำงานภายในได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่รวดเร็วดังกล่าว

กลุ่มบริษัท ฯ จึงมีการบริหารความเสี่ยงเพื่อให้การเติบโตทางธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ เป็นไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยทบทวนนโยบาย แผนงาน ติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อปรับกระบวนการทำงานและโครงสร้างองค์กร รวมถึงศึกษา ติดตามการเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อพัฒนาสินค้า และบริการของบริษัท ให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าเสมอ

4. ความเสี่ยงจากการพึ่งพิงความสามารถพิเศษเฉพาะบุคคล

ธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ เติบโตขึ้นมาได้เพราะบุคลากรที่มีประสบการณ์และความสามารถพิเศษเฉพาะบุคคล (People-based) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประกอบธุรกิจเพลง บุคลากรไม่ว่าจะเป็นศิลปินหรือทีมงานสนับสนุน ต่างนับเป็นทรัพยากรที่สำคัญและมีผลต่อการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ ดังนั้นการย้ายค่ายหรือย้ายสังกัดของศิลปินหรือทีมงานสนับสนุนส่งผลให้กลุ่มบริษัทฯ ต้องสูญเสียทรัพยากรด้านบุคคลที่มีคุณค่าไป และอาจต้องใช้เวลามากขึ้นในการสร้างศิลปินรวมถึงทีมงานสนับสนุนใหม่ขึ้นมาทดแทน

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากลุ่มบริษัทฯ ได้มีการบริหารความเสี่ยงในด้านนี้อย่างต่อเนื่องโดยส่งเสริมให้บุคลากรมีความรักและความผูกพันกับองค์กรให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจทางธุรกิจ รวมทั้งมีนโยบายในการรักษาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถให้มีส่วนร่วมในการดำเนินงาน และ/หรือการบริหารงาน และ/หรือเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ รวมทั้ง มีการจัดทำและพัฒนาแผนสืบทอดตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารในตำแหน่งสำคัญ การสร้างศิลปินรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทฯ ได้ดำเนินการพัฒนาระบบประเมินผลการทำงานให้เป็นมาตรฐาน รวมถึงการให้ความสำคัญต่อผลตอบแทนและสวัสดิการสำหรับบุคลากรเพื่อให้เทียบเคียงกับบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน