จริยธรรมว่าด้วยการมีส่วนได้เสียและความขัดแย้งทางผลประโยชน์

จริยธรรมว่าด้วยการมีส่วนได้เสียและความขัดแย้งทางผลประโยชน์

คณะกรรมการบริษัท ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันความความขัดแย้งของผลประโยชน์ โดยมีนโยบายและแนวทางปฏิบัติดังนี้

  1. ในการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ คณะกรรมการบริษัทจะมีการดูแลอย่างรอบคอบเมื่อเกิดรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยมีการกำหนดนโยบายและขั้นตอนการอนุมัติรายการที่เกี่ยวโยงกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในระเบียบอำนาจอนุมัติและดำเนินการ และ/หรือขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นตามข้อกำหนดของ ตลท. รวมทั้งมีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ ตลท. โดยราคา และเงื่อนไขเสมือนทำรายการกับบุคคลภายนอก (Arm's Length Basis)
  2. กรณีที่คณะกรรมการบริษัท เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติรายการระหว่างกัน จะต้องมีกรรมการอิสระหรือกรรมการตรวจสอบเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริษัทด้วย
  3. คณะกรรมการตรวจสอบจะนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท เกี่ยวกับรายการที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์และรายการที่เกี่ยวโยงกันอย่างสม่ำเสมอโดยบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ไม่มีสิทธิออกเสียงหรืออนุมัติรายการนั้น
  4. ในกรณีที่มีการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันที่เข้าข่ายจะต้องเปิดเผยข้อมูล หรือขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นตามข้อกำหนดของ ตลท. ก่อนการทำรายการ บริษัทฯได้มีการเปิดเผยรายละเอียด อาทิ ชื่อ ความสัมพันธ์ของบุคคลที่เกี่ยวโยง นโยบายการกำหนดราคามูลค่าของรายการ เหตุผลของการทำรายการ รวมทั้งความเห็นของคณะกรรมการบริษัทเกี่ยวกับรายการดังกล่าวให้ผู้ถือหุ้นทราบอย่างชัดเจน
  5. ในการทำรายการระหว่างกันในลักษณะที่เป็นการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน คณะกรรมการบริษัท ได้มีการกำหนดแนวทางในการทำรายการระหว่างกันในลักษณะที่เป็นการให้ความช่วยเหลือทางการเงินไว้ในระเบียบอำนาจอนุมัติและดำเนินการ ที่ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท
  6. คณะกรรมการบริษัท กำหนดแนวทางในการเก็บรักษาและป้องกันการใช้ข้อมูลภายในเป็นลายลักษณ์อักษร และแจ้งแนวทางดังกล่าวให้ทุกคนในบริษัทถือปฏิบัติและห้ามบุคคลที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลภายในทำการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทภายใน 1 เดือนก่อนการเปิดเผยงบการเงินรายไตรมาสและงบการเงินประจำปี และจนกว่าจะพ้นระยะเวลา 24 ชั่วโมง นับแต่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลนั้นสู่สาธารณะแล้ว
  7. คณะกรรมการบริษัท กำหนดนโยบายให้กรรมการ กรรมการบริหาร และผู้บริหาร (ตามนิยามของ ก.ล.ต.) ซึ่งรวมถึงจำนวนหลักทรัพย์ ที่ถือครองของบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องตามมาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ มีหน้าที่ในการรายงานการถือครอง หลักทรัพย์ของบริษัทฯ (GRAMMY) ในการประชุมคณะกรรมการบริษัททุกครั้ง โดยกำหนดให้เลขานุการบริษัทเป็นผู้สรุปรายงาน การถือครองหลักทรัพย์ และการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ฯ เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อรับทราบเป็นรายไตรมาส
  8. คณะกรรมการบริษัทกำหนดให้กรรมการผู้บริหารและบุคคลทีมี่ความเกี่ยวข้อง (ตามนิยามของ ก.ล.ต.) ต้องจัดทำรายงานการมีส่วนได้ส่วนเสียของตนและจัดส่งให้กับบริษัทฯ และให้เลขานุการบริษัทสรุปรายงานการมีส่วนได้เสียของกรรมการ ผู้บริหารและบุคคลที่เกี่ยวข้องของบริษัทฯ รวมถึงรายการที่มีการเปลี่ยนแปลง ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อรับทราบเป็นประจำทุก 6 เดือน
  9. คณะกรรมการบริษัท กำหนดให้มีการเปิดเผยรายการระหว่างกันที่มีสาระสำคัญ โดยแสดงรายละเอียดชื่อบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง ทางผลประโยชน์ ความสัมพันธ์ ลักษณะของรายการ เงื่อนไข นโยบายการกำหนดราคา และมูลค่าของรายการ เหตุผลความจำเป็น และ ความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบและ/หรือคณะกรรมการบริษัท ไว้ในรายงานสารสนเทศ และ/หรือ แบบแสดงรายการข้อมูล ประจำปี (แบบ 56-1) และรายงานประจำปีของบริษัทฯ