กฏบัตรคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง
1. วัตถุประสงค์
คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง (Risk Management Committee : RMC) ได้จัดตั้งขึ้นตามมติของคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 1/2548 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2548 โดยได้มีการทบทวนองค์คณะ รวมทั้งขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมยิ่งขึ้น และนำเสนอคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติ กลุ่มบริษัทฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาระบบบริหารความเสี่ยงที่เป็นระบบขึ้นภายในองค์กร ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งของการบริหารจัดการของกลุ่มบริษัทฯ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงจะให้การสนับสนุนและปฏิบัติการในนามของคณะกรรมการบริษัท ซึ่งอาศัยหลักการพื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการขององค์กรที่ดี (Good Corporate Governance) โดยมีการเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ ภารกิจ และเป้าหมายขององค์กร และให้มีกรอบการบริหารจัดการความเสี่ยงองค์กรตามแนวทางสากล (COSO Enterprise Risk Management Framework : COSO ERM) รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร และปลูกฝังให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของกลุ่มบริษัทฯ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียขององค์กรสามารถเชื่อมั่นอย่างสมเหตุสมผลว่าการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์ของกลุ่มบริษัทฯ มุ่งไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2555 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2555 คณะกรรมการบริษัทได้มีมติให้ปรับปรุง กฎบัตรคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับ คู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 พ.ศ. 2555 ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2555 เป็นต้นไป
2. องค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง
คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการบริษัท และประกอบด้วยกรรมการและผู้บริหารอย่างน้อย 3 คน โดยประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท เป็น ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง โดยตำแหน่ง
3. วาระการดำรงตำแหน่ง
- 3.1 กรรมการบริหารความเสี่ยง มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี
- 3.2 กรรมการบริหารความเสี่ยง อาจได้รับการแต่งตั้งกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งต่อไปได้อีกตามที่คณะกรรมการบริษัทเห็นว่าเหมาะสม
- 3.3 นอกเหนือจากการพ้นจากตำแหน่งตามข้อ 3.1 กรรมการบริหารความเสี่ยง จะพ้นตำแหน่งเมื่อ
- 3.3.1 ลาออก
- 3.3.2 คณะกรรมการบริษัทมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง
- 3.4 คณะกรรมการบริษัท มีอำนาจในการแต่งตั้ง กรรมการบริหารความเสี่ยง เพิ่มเติม เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ หรือเพื่อทดแทน กรรมการบริหารความเสี่ยง ที่พ้นจากตำแหน่งตามข้อ 3.1 หรือ 3.3 ได้ โดยบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเข้าเป็น กรรมการบริหารความเสี่ยง ทดแทนตามข้อ 3.3 จะอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระที่ยังเหลืออยู่ของกรรมการบริหารความเสี่ยง ซึ่งตนแทนเท่านั้น
4. ขอบเขตอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ
- 4.1 พิจารณาสอบทาน และนำเสนอนโยบายและกรอบการบริหารความเสี่ยง ให้แก่คณะกรรมการบริษัท เพื่อพิจารณาอนุมัติ
- 4.2 พิจารณาสอบทานและให้ความเห็นชอบความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Appetite) และนำเสนอคณะกรรมการบริษัทเพื่อรับทราบ
- 4.3 กำกับดูแลการพัฒนาและการปฏิบัติตามนโยบายและกรอบการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กลุ่มบริษัทฯ มีระบบบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพทั่วทั้งองค์กรและมีการปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่อง
- 4.4 สอบทานรายงานการบริหารความเสี่ยง เพื่อติดตามความเสี่ยงที่มีสาระสำคัญ และดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่า องค์กรมีการจัดการความเสี่ยงอย่างเพียงพอและเหมาะสม
- 4.5 ประสานงานกับคณะกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับความเสี่ยงที่สำคัญ และมีหน่วยงานตรวจสอบภายในเป็นผู้สอบทานเพื่อให้มั่นใจว่า บริษัทฯ มีระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสมต่อการจัดการความเสี่ยง รวมทั้งการนำระบบการบริหารความเสี่ยงมาปรับใช้อย่างเหมาะสมและมีการปฏิบัติตามทั่วทั้งองค์กร
- 4.6 รายงานคณะกรรมการบริษัทเกี่ยวกับความเสี่ยงและและการจัดการความเสี่ยงที่สำคัญอย่างสม่ำเสมอ
- 4.7 ให้คำแนะนำและคำปรึกษากับคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง (Sub Risk-Management Committee : SRM) และ/หรือหน่วยงาน และ/หรือคณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยง รวมทั้งพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาระบบการบริหารความเสี่ยง
- 4.8 พิจารณาแต่งตั้งอนุกรรมการและ/หรือบุคลากรเพิ่มเติมหรือทดแทนในคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง และ/หรือหน่วยงาน และ/หรือคณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยงตามความเหมาะสม รวมทั้งกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์
- 4.9 ปฏิบัติการอื่นใดเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงตามที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมาย
ทั้งนี้ผู้บริหาร และ/หรือคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง และ/หรือหน่วยงาน และ/หรือคณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยง และ/หรือผู้ตรวจสอบภายใน และ/หรือผู้สอบบัญชี จะต้องรายงานหรือนำเสนอข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ให้บรรลุตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
5. การรายงาน
คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง รายงานต่อคณะกรรมการบริษัท
6. การประชุม
- 6.1 คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง จัดให้มีหรือเรียกประชุมตามที่เห็นสมควร อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และมีอำนาจในการเรียกประชุมเพิ่มได้ตามความจำเป็น โดยองค์ประชุมประกอบด้วย กรรมการบริหารความเสี่ยง ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด
- 6.2 กรรมการทุกท่านควรเข้าร่วมประชุมทุกครั้ง ยกเว้นมีเหตุจำเป็นไม่อาจเข้าร่วมประชุมได้ ควรแจ้งให้ ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง ทราบล่วงหน้า
- 6.3 ให้ ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง เป็นประธานที่ประชุม ในกรณีที่ ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง ไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ กรรมการบริหารความเสี่ยง ที่มาประชุมเลือก กรรมการบริหารความเสี่ยง คนหนึ่งเป็นประธานที่ประชุม
- 6.4 มีการประชุมเป็นการเฉพาะคณะกรรมการตรวจสอบ และ/หรือผู้บริหาร และ/หรือคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง และ/หรือหน่วยงาน และ/หรือคณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยง และ/หรือผู้ตรวจสอบภายใน และ/หรือผู้สอบบัญชี อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- 6.5 การลงมติของ กรรมการบริหารความเสี่ยง กระทำได้โดยถือเสียงข้างมาก ทั้งนี้ กรรมการบริหารความเสี่ยง ผู้ที่มีส่วนได้เสียใดๆ ในเรื่องที่พิจารณา จะต้องไม่เข้าร่วมในการแสดงความเห็น และไม่มีสิทธิออกเสียงลงมติในเรื่องนั้น
- 6.6 การจัดส่งหนังสือเชิญประชุมให้แก่ กรรมการบริหารความเสี่ยง ให้จัดส่งล่วงหน้าก่อนการประชุม เพื่อให้ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง มีเวลาในการพิจารณาเรื่องต่างๆ หรือเรียกข้อมูลประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม ทั้งนี้หนังสือเชิญประชุมจะต้องมีรายละเอียดวาระการประชุม และเอกสารประกอบการประชุม โดยวาระการประชุมจะครอบคลุมเรื่องต่างๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท เว้นแต่ในกรณีจำเป็นหรือเร่งด่วน จะแจ้งการนัดประชุมโดยวิธีอื่น หรือกำหนดวันประชุมให้เร็วกว่านั้นได้ โดยให้ เลขานุการคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง เป็นผู้บันทึกรายงานการประชุม
- 6.7 คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง สามารถเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆ ให้แก่ที่ประชุม คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ทราบได้
ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป