จริยธรรมว่าด้วยการสนับสนุนการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น

จริยธรรมว่าด้วยการสนับสนุนการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น

คณะกรรมการบริษัท ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส โดยอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย หลักจริยธรรมและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมทั้งสนับสนุนการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ และตระหนักเป็นอย่างดีว่าการทุจริตและคอร์รัปชั่นส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ โดยมีนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่นดังนี้

  1. สนับสนุนการสร้างจิตสำนึก ค่านิยม ทัศนคติให้แก่พนักงานในการปฏิบัติงานอย่างซื่อสัตย์ โปร่งใส เที่ยงตรง เคารพกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ การต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่นให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร รวมทั้งบริหารงานตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
  2. จัดให้มีระบบการควบคุมภายในที่เพียงพอและเหมาะสม รวมทั้งพัฒนาระบบและกลไกในการตรวจสอบ ควบคุมและถ่วงดุลการใช้อำนาจให้เหมาะสม ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อป้องกันและมิให้พนักงานมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตและคอร์รัปชั่นต่างๆ
  3. พนักงานต้องไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการเรียกร้อง หรือรับทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดจากบุคคลอื่น ที่มีหน้าที่หรือธุรกิจเกี่ยวข้องกับบริษัทฯ เว้นแต่ในโอกาสหรือเทศกาลอันเป็นประเพณีนิยมที่คนทั่วไปพึงปฏิบัติต่อกัน และทรัพย์สินนั้นต้องไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย รวมทั้งไม่อาศัยตำแหน่งหน้าที่หรือแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเอง และ/หรือผู้อื่นโดยมิชอบ
  4. จัดให้มีช่องทางในการสื่อสารเพื่อรับเรื่องร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสอันควรสงสัยโดยมีนโยบายในการคุ้มครองผู้ให้ข้อมูลหรือเบาะแส และจะเก็บรักษาข้อมูลของผู้ให้ข้อมูลเป็นความลับ รวมทั้งมีมาตรการในการตรวจสอบและกำหนดบทลงโทษตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
  5. สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและสนับสนุนการต่อต้านการทุจริตและการคอร์รัปชั่น

กระบวนการในการประเมินความเสี่ยงจากการทุจริตและคอร์รัปชั่น

บริษัทฯ จัดให้มีระบบการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมกับลักษณะการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ โดยระบุเหตุการณ์ที่มีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ ซึ่งครอบคลุมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดการทุจริตและคอร์รัปชั่น ประเมินระดับความเสี่ยง ทั้งโอกาสเกิด และผลกระทบ กำหนดวิธีการจัดการความเสี่ยงต่างๆ มาตรการที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ประเมินได้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการทุจริตและคอร์รัปชั่น และมีการติดตามประเมินผลการปฏิบัติตามแผนการบริหารความเสี่ยงที่กำหนดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ

แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลและควบคุมดูแลเพื่อป้องกันและติดตามความเสี่ยงจากการทุจริตและคอร์รัปชั่น

บริษัทฯ กำหนดให้มีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลและควบคุมดูแล เพื่อป้องกันและติดตามความเสี่ยงจากการทุจริตและคอร์รัปชั่น สรุปได้ ดังนี้

  1. จัดให้มีกระบวนการตรวจสอบ ประเมินระบบการควบคุมภายใน และการบริหารความเสี่ยงที่ครอบคลุมระบบงานสำคัญต่างๆ เช่น ระบบการขายและการตลาด การจัดซื้อจัดจ้าง การจัดทำสัญญา ระบบการจัดทำและควบคุมงบประมาณ ระบบการบันทึกบัญชี การชำระเงิน กระบวนการบริหารงานบุคคล เป็นต้น
  2. จัดให้มีช่องทางการรับแจ้งข้อมูล เบาะแส หรือข้อร้องเรียนต่างๆ โดยมีนโยบายในการคุ้มครองผู้ให้ข้อมูลหรือเบาะแส และจะเก็บรักษาข้อมูลของผู้ให้ข้อมูลเป็นความลับ รวมทั้งมีมาตรการในการตรวจสอบ และกำหนดบทลงโทษทางวินัยของบริษัทฯ และ/หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  3. หัวหน้าสายงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบในการติดตามการปฏิบัติงาน การปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาด (ถ้ามี) และรายงานให้ผู้มีอำนาจทราบตามลำดับ

แนวทางในการติดตามประเมินผลการปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติในการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตและคอร์รัปชั่น

บริษัทฯ กำหนดให้มีแนวทางในการติดตามประเมินผลการปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติในการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตและคอร์รัปชั่น ดังนี้

  1. กำหนดให้ผู้บริหารและพนักงาน รับทราบและถือปฏิบัติตามคู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจของบริษัทฯ กำหนดขึ้น ซึ่งในคู่มือดังกล่าวได้รวมถึงนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี จริยธรรมธุรกิจต่างๆ เช่น การต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่นฯ และจรรยาบรรณ/ข้อพึงปฏิบัติของพนักงาน อย่างสม่ำเสมอ
  2. กำหนดให้ฝ่ายบริหารความเสี่ยง ทำหน้าที่สอบทาน และประเมินความเสี่ยงจากการทุจริตและคอร์รัปชั่นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนติดตาม ทบทวน และปรับปรุงมาตรการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มาตรการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่นมีประสิทธิผล โดยนำเสนอผลการประเมินต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง และรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทตามลำดับ อย่างทันเวลาและสม่ำเสมอ
  3. หากพบว่า มีข้อมูลจากการตรวจสอบ หรือข้อร้องเรียน มีหลักฐานที่มีเหตุอันควรให้เชื่อว่า มีการกระทำซึ่งอาจมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงการฝ่าฝืน การกระทำผิดกฎหมายหรือจริยธรรมธุรกิจของบริษัทฯ ว่าด้วยการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตและคอร์รัปชั่น ให้ฝ่ายตรวจสอบภายในรวบรวมข้อเท็จจริงทั้งหมด รายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริษัท ตามลำดับ เพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่เหมาะสม

บริษัทฯ จัดให้มีการสื่อสารแนวทางปฏิบัติในการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตและคอร์รัปชั่นนี้ โดยเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น อินทราเน็ตของกลุ่มบริษัทฯ และบนเว็บไซต์ของบริษัทฯ ตลอดจนจัดอบรม/สัมมนาหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง เพื่อสื่อสารโดยตรงกับผู้บริหาร และพนักงานทุกคนให้รับทราบและถือปฏิบัติ

โดยในปี 2566 ไม่พบการรายงาน หรือการกระทำผิดเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ และ/หรือบริษัทในเครือ