กฏบัตรคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจ
1. วัตถุประสงค์
คณะกรรมการบริษัท สนับสนุนให้การปฏิบัติงานของกลุ่มบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (GCG : Good Corporate Governance) เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ตลอดจนเป็นการเพิ่มมูลค่าและส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของกลุ่มบริษัทฯ ดังนั้นคณะกรรมการบริษัท จึงได้มีการแต่งตั้ง คณะทำงานการกำกับดูแลกิจการที่ดี และ คณะทำงานจริยธรรมธุรกิจ ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2547 (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น คณะอนุกรรมการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจ และ คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจ (Corporate Governance and Business Ethics : CGC) ตามลำดับ) เพื่อส่งเสริมให้การดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมทั้งบรรลุนโยบายการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจที่กำหนดขึ้น
2. องค์ประกอบของคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจ
คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจ ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการบริษัท และประกอบด้วยกรรมการบริษัทไม่น้อยกว่า 3 ท่าน ซึ่งมีความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีของกลุ่มบริษัทฯ
3. วาระการดำรงตำแหน่ง
- กรรมการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี
- กรรมการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจ อาจได้รับการแต่งตั้งกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งต่อไปได้อีกตามที่คณะกรรมการบริษัทเห็นว่าเหมาะสม
- นอกเหนือจากการพ้นจากตำแหน่งตามข้อ 3.1 กรรมการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจ จะพ้นตำแหน่งเมื่อ
- ลาออก
- คณะกรรมการบริษัทมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง
- คณะกรรมการบริษัท มีอำนาจในการแต่งตั้ง กรรมการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจ เพิ่มเติม เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ หรือเพื่อทดแทนกรรมการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจ ที่พ้นจากตำแหน่งตามข้อ 3.1 หรือ 3.3 ได้ โดยบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเข้าเป็น กรรมการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจ ทดแทนตามข้อ 3.3 จะอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระที่ยังเหลืออยู่ของกรรมการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจ ซึ่งตนแทนเท่านั้น
4. ขอบเขตอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ
คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจ ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท โดยมีขอบเขตอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังต่อไปนี้
- นำเสนอแนวนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance Policy) และจริยธรรมธุรกิจ (Code of Business Ethics) ของกลุ่มบริษัทฯ ต่อคณะกรรมการบริษัท เพื่อพิจารณาอนุมัติ
- ติดตามและกำกับดูแลเพื่อให้มั่นใจว่า กลุ่มบริษัทฯ มีการปฏิบัติตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจที่กลุ่มบริษัทฯ กำหนด
- พิจารณาทบทวนเกี่ยวกับนโยบายการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติของสากล และ/หรือข้อเสนอแนะของสถาบัน และ/หรือหน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติ
- พิจารณานำเสนอข้อพึงปฏิบัติที่ดี (Code of Best Practices) ต่อคณะกรรมการบริษัท และ/หรือคณะกรรมการชุดย่อยต่างๆ ของกลุ่มบริษัทฯ
- ส่งเสริมการเผยแพร่วัฒนธรรมในการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เป็นที่เข้าใจทั่วทุกระดับ และมีผลในแนวทางปฏิบัติ
- พิจารณาแต่งตั้งและกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะทำงานชุดย่อย เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนงานการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจได้ตามความเหมาะสม
- ปฏิบัติงานอื่นตามที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมาย
โดยฝ่ายบริหารและหน่วยงานต่างๆ จะต้องรายงานหรือนำเสนอข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อ คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของ คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจ ให้บรรลุตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
5. การรายงาน
คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจ รายงานต่อคณะกรรมการบริษัท
6. การประชุม
- คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจ จัดให้มีหรือเรียกประชุมตามที่เห็นสมควร อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง และมีอำนาจในการเรียกประชุมเพิ่มได้ตามความจำเป็น และองค์ประชุมประกอบด้วย กรรมการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจ ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด
- กรรมการทุกท่านควรเข้าร่วมประชุมทุกครั้ง ยกเว้นมีเหตุจำเป็นไม่อาจเข้าร่วมประชุมได้ ควรแจ้งให้ ประธานกรรมการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจ ทราบล่วงหน้า
- ให้ประธานกรรมการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจ เป็นประธานที่ประชุม ในกรณีที่ ประธานกรรมการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจ ไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ กรรมการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจ ที่มาประชุมเลือก กรรมการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจ คนหนึ่งเป็นประธานที่ประชุม
- การลงมติของ กรรมการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจ กระทำได้โดยถือเสียงข้างมาก ทั้งนี้ กรรมการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจ ที่มีส่วนได้เสียใดๆ ในเรื่องที่พิจารณา จะต้องไม่เข้าร่วมในการแสดงความเห็นและไม่มีสิทธิออกเสียงลงมติในเรื่องนั้นๆ
- การจัดส่งหนังสือเชิญประชุมให้แก่ กรรมการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจ ให้จัดส่งล่วงหน้าก่อนการประชุม เว้นแต่ในกรณีจำเป็นหรือเร่งด่วน จะแจ้งการนัดประชุมโดยวิธีอื่น หรือกำหนดวันประชุมให้เร็วกว่านั้นได้ โดยให้เลขานุการคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจ เป็นผู้บันทึกรายงานการประชุม
- คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจ สามารถเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆ ให้แก่ที่ประชุม คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจ ทราบได้
ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2563
โดยมติประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563