'แกรมมี่' โชว์ผลประกอบการ 9 เดือน ทำกำไร 143 ล้านบาท ผลจากการปรับโครงสร้างและรายได้ขยายตัวจากทุกช่องทาง

Back17 พฤศจิกายน 2558

จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เผยผลประกอบการช่วง 9 เดือนของปี 2558 มีรายได้รวม 7,328 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 143 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากผลขาดทุน 1,869 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2557 โดยธุรกิจเพลงและทีวีดิจิทัล มีรายได้เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญ โดยเป็นผลจากการปรับโครงสร้างธุรกิจและศักยภาพในการเพิ่มรายได้จากทุกช่องทาง

นางสาวบุษบา ดาวเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ แกรมมี่ เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานช่วง 9 เดือนของปีนี้ว่า มีรายได้รวม 7,328 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 143 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 108 จากที่มีผลขาดทุน 1,869 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2557 ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างองค์กร และการเพิ่มศักยภาพในการขยายตัวของธุรกิจหลัก ทั้งเพลงและทีวีดิจิทัล

สำหรับธุรกิจเพลง ยังคงมีกระแสตอบรับเป็นอย่างดี โดยมีรายได้ 2,388 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อันเป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ รวมทั้งการเปลี่ยนวิธีการทำงาน จากเดิมที่เน้น Music Business ไปสู่ Idol Business ส่งผลให้บริษัทฯสามารถขยายช่องทางการสร้างรายได้ครอบคลุม 360 องศา โดยส่วนของ Physical Product มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่นๆเข้ามาเสริมนอกเหนือจาก ซีดี วีซีดี ดีวีดี และเอ็มพี3 โดยได้ผลิตแผ่นไวนิล ซึ่งเป็นที่นิยมในอดีตกลับมาทำตลาดอีกครั้ง และมีการเพิ่มผลิตภัณฑ์ในส่วนของเมอร์ชั่นไดซิ่งที่กำลังได้รับความนิยมจากกลุ่มแฟนคลับเป็นอย่างมาก ส่วนช่องทางมิวสิค สตรีมมิ่ง (Music Streaming) ทั้งช่องทางของ YouTube iTune Music Store KKBOX และ Line Music ล้วนเป็นช่องทางที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ช่องทางใหม่อย่าง Social Media ทั้งเฟสบุค และอิสตราแกรม ของศิลปินแกรมมี่ทั้งหมดที่ขณะนี้มียอดผู้ติดตามรวมมากกว่า 50 ล้านคน ก็เป็นอีกช่องทางที่ทรงพลังและสร้างรายได้เพิ่มได้อย่างมีนัยสำคัญ

ในขณะที่ธุรกิจด้านโชว์บิซ และการบริหารสิทธิ์ก็มีอัตราการเติบโตอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคเข้าถึงการฟังเพลงได้ง่ายขึ้นจากหลากหลายช่องทาง ส่งผลให้ธุรกิจโชว์บิซ ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานขนาดเล็ก ขนาดกลาง ไปจนถึงการจัดคอนเสิร์ต และงานขนาดใหญ่อย่างมิวสิคเฟสติวัล ก็ได้รับการตอบรับที่ดี มีการนำเพลงของแกรมมี่ไปใช้อย่างกว้างขวาง จึงส่งผลให้การบริหารสิทธิ์มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

ส่วนธุรกิจทีวีดิจิทัลทั้ง 2 ช่อง เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นอย่างแพร่หลายและติดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของช่องทีวีดิจิทัล สำหรับช่วง 9 เดือนของปี 2558 ช่อง One มีรายได้เติบโตทั้งด้านรายได้และเรทติ้งที่ดีขึ้นตามลำดับ เป็นผลจากการให้ความสำคัญกับการปรับผังอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและพฤติกรรมของผู้ชมที่เปลี่ยนแปลงไปให้ได้มากที่สุด โดยให้ความสำคัญกับการผลิตคอนเทนต์เอง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 95% ขณะเดียวกันก็มุ่งเน้นสร้างสรรค์รายการใหม่เพื่อลดรายการรีรันลง นอกจากนี้ ด้วยความถนัดด้านละครและซิทคอมซึ่งจัดอยู่ในช่วงเวลาไพร์ไทม์เพื่อเรียกฐานผู้ชมกลับมาแล้ว ช่องวันยังนำเอาจุดแข็งในฐานะผู้เชี่ยวชาญการผลิตรายการเรียลลิตี้อย่างเดอะสตาร์ เปิดตัวรายการใหม่ สงครามนางงาม เดอะ แคสติ้ง โปรเจค ภายใต้แนวคิด เปลือยหมดเปลือก จริงยิ่งกว่าที่เคยจริง ซึ่งมั่นใจว่าจะสร้างความฮือฮาและได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ชมและเอเยนซี่อย่างแน่นอน

สำหรับช่อง GMM 25 หลังจากลุยละครโปรเจคท์ "Club Friday the Series" จนประสบความสำเร็จ มาถึงละครยาวเรื่องแรก "I Wanna Be Sup'Tar : วันหนึ่งจะเป็นซุปตาร์" ที่ได้รับความนิยมจนกลายเป็นละครขวัญใจคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ใช่แค่ในเมืองไทยแต่ไปไกลถึงประเทศจีน ส่งผลให้ช่อง GMM 25 ก้าวสู่การเป็นช่องทีวีดิจิทัลในใจคนรุ่นใหม่ด้วยเรทติ้งที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยร้อยละ 25 ต่อเดือน

นอกจากนี้ ธุรกิจอื่น ๆ ของแกรมมี่ที่มีผลประกอบการโดดเด่นต่อเนื่อง อาทิ ธุรกิจ Home Shopping มีรายได้กว่า 1,246 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 62 และเชื่อมั่นว่าแม้กำลังซื้อยังชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจ แต่กลยุทธ์ของบริษัท คือ การเพิ่มรายการสินค้าที่แตกต่างและหลากหลาย การบริการทั้งการส่งสินค้าและการชำระเงิน และการเพิ่มช่องทางการซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์และสมาร์ทโฟน ทำให้คนรู้จักและเข้ามาซื้อสินค้ามากขึ้น จะทำให้ประสบความสำเร็จและมีอัตราการเติบโตของรายได้ในปีนี้จะไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50

ด้านสถานะทางการเงินของแกรมมี่ยังคงแข็งแกร่ง โดยปัจจุบัน อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Interest Bearing Debt to Equity) อยู่ที่ 0.57 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมและจะเป็นส่วนสนับสนุนให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ สร้างความเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพื่อผลตอบแทนที่ดีต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน