นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี
บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย
คณะกรรมการบริษัท ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส ควบคู่ไปกับการมีบทบาทและความรับผิดชอบต่อสังคม โดยให้ความสำคัญกับสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายของบริษัทฯ ไม่ว่าจะเป็นผู้มีส่วนได้เสียภายใน ได้แก่ กรรมการ พนักงานและผู้บริหารของบริษัทฯ หรือผู้มีส่วนได้เสียภายนอก เช่น ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า เจ้าหนี้ คู่แข่งทางการค้า สังคมและสิ่งแวดล้อม ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม ทั้งสิทธิที่กำหนดโดยกฎหมายหรือโดยข้อตกลงที่ทำร่วมกัน โดยคณะกรรมการบริษัท ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ไว้ในจริยธรรมธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ โดยสรุปจริยธรรมว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียต่างๆได้ดังนี้
จริยธรรมว่าด้วยการปฎิบัติต่อผู้ถือหุ้น
คณะกรรมการบริษัท มีนโยบายและแนวทางปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันดังนี้
- ปฏิบัติหน้าที่และดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส มีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นโดยสม่ำเสมอ (Accountability to Shareholders) มีการเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ถือหุ้นอย่างถูกต้อง ครบถ้วน มีมาตรฐานโดยอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายหลักจริยธรรมและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี
- บริหารกิจการของบริษัทฯ ให้มีความเจริญก้าวหน้า มั่นคง โดยใช้ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์อย่างเต็มที่ ตลอดจนตัดสินใจดำเนินการใดๆ ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ระมัดระวัง รอบคอบ (Duty of Care) และเป็นธรรม เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้นโดยรวม
- กำกับดูแลการดำเนินงาน เพื่อให้มั่นใจว่า บริษัทฯ มีสถานะทางการเงิน การบริหารและการจัดการที่ถูกต้อง เหมาะสม เพื่อปกป้องและเพิ่มผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น
- จัดการดูแลไม่ให้ทรัพย์สินใดๆ ของบริษัทฯ เสื่อมค่า สูญหาย หรือสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์
- ไม่แสวงหาประโยชน์ให้ตนเองและผู้เกี่ยวข้อง โดยเปิดเผยข้อมูลภายในใดๆ ของบริษัทฯ ที่เป็นความลับและ/หรือยังไมได้เปิดเผยต่อสาธารณะ ต่อบุคคลภายนอกอันจะนำมาซึ่งผลเสียของบริษัทฯ
- เคารพสิทธิของผู้ถือหุ้นโดยรายงานสถานะและผลการดำเนินงานของบริษัทฯ รวมทั้งข้อมูลสารสนเทศ ให้ผู้ถือหุ้นทุกรายทราบอย่างเท่าเทียมกัน สม่ำเสมอ ทันเวลา ถูกต้องและครบถ้วนตามความจริง โดยมีข้อมูลสนับสนุนที่มีเหตุผลอย่างเพียงพอ และเป็นไปตามที่ ก.ล.ต. และ ตลท. กำหนด
- ไม่ดำเนินการใดๆ ในลักษณะซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัทฯ โดยมิได้แจ้งให้บริษัทฯ ทราบ
จริยธรรมว่าด้วยการปฎิบัติต่อลูกค้าและผู้บริโภค
คณะกรรมการบริษัท มุ่งมั่นในการสร้างสรรค์และผลิตผลงานด้านสื่อและด้านบันเทิงทุกรูปแบบ เพื่อสร้างความพึงพอใจอย่างต่อเนื่องให้ลูกค้า โดยมีนโยบายและแนวทางปฏิบัติต่อลูกค้าและผู้บริโภคดังนี้
- ดำเนินการสนองความต้องการของลูกค้าด้วยคุณภาพของสินค้าและการบริการที่ดีในราคาที่เหมาะสมโดยพนักงานที่มีคุณภาพ ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย
- มีการศึกษา ประเมิน และปรับปรุงผลกระทบของสินค้าและ/หรือบริการที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนควบคุมดูแลสินค้าและบริการให้มีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐาน ข้อกำหนด กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
- ให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เพียงพอและเป็นประโยชน์สำหรับการตัดสินใจของผู้บริโภคสินค้าและ/หรือบริการ โดยไม่จงใจปกปิดเนื้อหาหรือให้ข้อมูลเท็จหรือจงใจให้ผู้บริโภคสินค้าและ/หรือบริการเข้าใจผิด อันเป็นเหตุให้ลูกค้าเข้าใจผิดเกี่ยวกับคุณภาพ ปริมาณหรือเงื่อนไขใดๆ ของสินค้าหรือบริการนั้นๆ
- เคารพสิทธิส่วนบุคคลของผู้บริโภคสินค้าและ/หรือบริการ รวมทั้งคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภคสินค้าและ/หรือบริการ โดยไม่นำข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภคสินค้าและ/หรือบริการมาเปิดเผยหากไม่ได้รับการยินยอมจากผู้บริโภคสินค้าและ/หรือบริการ หรือนำไปใช้หาผลประโยชน์ต่างๆ เว้นแต่เป็นข้อมูลที่ต้องเปิดเผยต่อบุคคลภายนอกตามกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
- จัดให้มีกระบวนการที่ลูกค้าสามารถแจ้งถึงปัญหาของการนำสินค้าไปใช้ หรือการให้บริการที่ไม่เหมาะสม ผ่านทาง E-mail หรือ Call Center เพื่อที่บริษัทฯ จะได้ป้องกัน/แก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและเหมาะสม รวมทั้งนำข้อมูลดังกล่าวไปปรับปรุงหรือพัฒนาสินค้าและการให้บริการดังกล่าวต่อไป
- สัญญาระหว่างบริษัทฯ กับลูกค้าและผู้บริโภคของบริษัทฯ เขียนด้วยภาษาที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย มีข้อมูล ข้อตกลงที่ถูกต้องและเพียงพอ ไม่กำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมหรือเป็นการละเมิดสิทธิของลูกค้าและผู้บริโภค รวมทั้งมีการปฏิบัติตามสัญญาหรือเงื่อนไขต่างๆ ที่ตกลงกันไว้อย่างเคร่งครัด และในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งได้ ต้องรีบแจ้งให้ลูกค้าทราบโดยเร็วเพื่อร่วมกันพิจารณาหาแนวทางแก้ไขโดยใช้หลักความสมเหตุสมผล
- สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในอันที่จะเสริมสร้างและธำรงรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างลูกค้ากับบริษัทฯ ให้ยั่งยืนสืบไป
จริยธรรมว่าด้วยการปฎิบัติต่อคู่แข่งทางการค้า
คณะกรรมการบริษัท ดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบกติกาของการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม โดยมีนโยบายและแนวทางปฏิบัติต่อคู่แข่งทางการค้าดังนี้
- ประพฤติปฏิบัติต่อคู่แข่งทางการค้า ภายใต้กรอบกติกามารยาทของการแข่งขันที่ดี และเป็นธรรม
- ไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับของคู่แข่งทางการค้าด้วยวิธีที่ฉ้อฉล ไม่สุจริต หรือไม่เหมาะสม หรือขัดต่อข้อกฎหมายใดๆ
- ไม่กระทำโดยเจตนาเพื่อทำลายชื่อเสียงของคู่แข่งทางการค้าด้วยการกล่าวหาในทางเสื่อมเสีย โดยปราศจากซึ่งข้อมูลอันอาจกล่าวอ้างได้
- ไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น หรือคู่แข่งทางการค้า
จริยธรรมว่าด้วยการปฎิบัติต่อคู่ค้า
คณะกรรมการบริษัท ปฏิบัติต่อคู่ค้าด้วยความเสมอภาคและคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกัน โดยมีนโยบายและแนวทางปฏิบัติต่อคู่ค้าดังนี้
- ปฏิบัติต่อคู่ค้าอย่างเสมอภาค เป็นธรรมและตั้งอยู่บนพื้นฐานของการได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย
- ปฏิบัติตามสัญญาหรือเงื่อนไขต่างๆ ที่ตกลงกันไว้อย่างเคร่งครัด และในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งได้ ต้องรีบแจ้งให้คู่ค้าทราบโดยเร็ว เพื่อร่วมกันพิจารณาหาแนวทางแก้ไขโดยใช้หลักความสมเหตุสมผล
- ไม่เรียกรับ หรือ ยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ที่ไม่สุจริตในการค้ากับคู่ค้า
- ในกรณีที่มีข้อมูลว่ามีการเรียกรับหรือยอมรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ที่ไม่สุจริตเกิดขึ้น จะต้องเปิดเผยข้อมูลต่อคู่ค้า เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยไม่ชักช้า
- มีนโยบาย หรือมาตรการในการตรวจสอบ คัดกรองคู่ค้าของบริษัทฯ เช่น ผู้ผลิต ผู้รับจ้างต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนการทำธุรกิจกับคู่ค้าที่ดำเนินกิจการอย่างเป็นธรรม ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยบริษัทฯ มีระเบียบปฏิบัติในการจัดซื้อจัดจ้าง และมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้การคัดเลือกคู่ค้ามีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ประกาศให้ถือปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
- ไม่ให้ความร่วมมือหรือสนับสนุนบุคคลหรือองค์กรใดๆ ที่ทำธุรกิจผิดกฎหมาย หรือเป็นภัยต่อสังคมและความมั่นคงของประเทศ
- มุ่งมั่นในการรักษาสัมพันธภาพที่ยั่งยืนกับคู่ค้าและคู่สัญญาและให้ความเชื่อถือซึ่งกันและกัน
จริยธรรมว่าด้วยการปฎิบัติต่อเจ้าหนี้
คณะกรรมการบริษัท ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความเชื่อถือให้กับเจ้าหนี้ โดยมีนโยบายและแนวทางปฏิบัติต่อเจ้าหนี้ดังนี้
- ปฏิบัติตามสัญญาหรือเงื่อนไขต่างๆ ที่ตกลงกันไว้อย่างเคร่งครัด รวมถึงภาระผูกพันและหนี้สินที่อาจเกิดขึ้น และมีความรับผิดชอบในหลักประกันต่างๆ ในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง หรือมีเหตุทำให้ผิดนัดชำระหนี้ ต้องรีบแจ้งให้เจ้าหนี้ทราบโดยไม่ปกปิดข้อเท็จจริง เพื่อร่วมกันพิจารณาหาแนวทางแก้ไขโดยใช้หลักความสมเหตุสมผล
- บริหารจัดการเงินทุนให้มีโครงสร้างที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และรักษาความเชื่อมั่นต่อเจ้าหนี้
- เปิดเผยข้อมูลสารสนเทศที่ถูกต้องและชัดเจนแก่เจ้าหนี้ รวมถึงการให้เข้าเยี่ยมชมกิจการและจัดการประชุมพบปะผู้บริหาร
- ไม่ให้ความร่วมมือหรือสนับสนุนบุคคลหรือองค์กรใดๆ ที่ทำธุรกิจผิดกฎหมาย หรือเป็นภัยต่อสังคมและความมั่นคงของประเทศ
- มุ่งมั่นในการรักษาสัมพันธภาพที่ยั่งยืนกับเจ้าหนี้และให้ความเชื่อถือซึ่งกันและกัน
จริยธรรมว่าด้วยการปฎิบัติต่อพนักงาน
คณะกรรมการบริษัท ตระหนักเป็นอย่างดีว่าพนักงานทุกคนเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าที่สุดของบริษัทฯ และเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของการบรรลุเป้าหมายของบริษัทฯ ดังนั้นบริษัทฯ จึงให้การดูแลและปฏิบัติที่เป็นธรรมทั้งในด้านโอกาส ผลตอบแทน การแต่งตั้ง โยกย้าย การเลิกจ้าง ตลอดจนกำหนดนโยบายในการพัฒนาบุคคลากรและสนับสนุนให้พนักงานได้มีการพัฒนาและแสดงศักยภาพและคุณค่าแห่งตนเพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาองค์กรให้เจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยมีนโยบายและแนวทางปฏิบัติต่อพนักงานดังนี้
- ปฏิบัติต่อพนักงานด้วยความเคารพในเกียรติ ศักดิ์ศรี และหลักสิทธิมนุษยชน
- การแต่งตั้ง โยกย้าย รวมถึงให้รางวัลและลงโทษพนักงานกระทำด้วยความสุจริตใจและตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ ความสามารถ ความเหมาะสม และเป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ
- ประเมินผลงานและความก้าวหน้าของพนักงานอย่างสม่ำเสมอ
- ให้ผลตอบแทนในด้านต่างๆ อย่างเป็นธรรมและความเหมาะสมตามความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ตำแหน่งงาน ความรับผิดชอบและผลการปฏิบัติงานของพนักงานแต่ละคน โดยจะพิจารณาให้สอดคล้องกับผลการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม
- จัดให้มีสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เหมาะสม ให้กับพนักงานโดยเทียบเคียงกับบริษัทอื่นที่อยู่ในธุรกิจเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน และเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับพนักงาน เป็นต้น
- สนับสนุนและให้ความสำคัญกับการพัฒนาความรู้ความสามารถและศักยภาพที่เป็นประโยชน์ต่อพนักงานทุกระดับอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อความก้าวหน้าในอาชีพการงานของพนักงาน
- ดูแลรักษาสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงานเพื่อสุขอนามัยและมีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของพนักงานอยู่เสมอ
- จัดให้มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและสวัสดิการที่เหมาะสมสำหรับลูกจ้างที่ทุพพลภาพ
- ส่งเสริมให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นและสนับสนุนให้มีการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวพนักงานให้มีความสุขและสามารถพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
- ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงาน และเคารพสิทธิในการรวมกลุ่มของพนักงาน ในอันที่จะเสนอแนะหรือกำหนดแนวทางการทำงาน และ/หรือข้อตกลงต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย และสร้างความสัมพันธ์อันดีในการทำงานร่วมกัน ตลอดจนมีช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียนการกระทำความผิด แนวทางการไต่สวนหาข้อเท็จจริง และการปกป้องผู้แจ้งเบาะแส
- ส่งเสริมให้พนักงานปฏิบัติงานภายใต้วัฒนธรรม และค่านิยมที่ดีร่วมกัน ตลอดจนมีความสามัคคีภายในองค์กร
- บริหารงานโดยระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงในหน้าที่การงานของพนักงาน
- ปฏิบัติตามกฎหมายข้อบังคับต่างๆ เกี่ยวกับกฎหมายแรงงาน (เช่น การจ้างงาน การเลิกจ้าง) และสวัสดิภาพของพนักงาน
จริยธรรมว่าด้วยการปฎิบัติต่อชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาชุมชน
คณะกรรมการบริษัท ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักจริยธรรมและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี ควบคู่ไปกับการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม (Corporate Social Responsibility : CSR) จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร โดยบูรณาการกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ กลยุทธ์ และเป้าหมายขององค์กรเพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญก้าวหน้าในเชิงธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยเคารพสิทธิมนุษยชน ปฎิบัติต่อเเรงงานอย่างเป็นธรรม มีความรับผิดชอบต่อลูกค้าและผู้บริโภค สนับสนุนและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนสังคม และการดูเเลรักษาสิ่งเเวดล้อม ทำนุบำรุงศาสนา อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน รวมทั้งสนับสนุนการศึกษาและกิจกรรมสาธารณประโยชน์แก่ชุมชนหรือผู้ด้อยโอกาสให้มีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยมีแนวทางปฏิบัติต่อต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และสังคมส่วนรวม โดยมีนโยบายและแนวทางปฏิบัติต่อต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และสังคมส่วนรวม ดังนี้
- ส่งเสริมการพัฒนารูปแบบกระบวนการรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ด้วยแนวทางการเข้าร่วมสร้างสรรค์ (Co-Creation) ร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ โดยการมีส่วนร่วม การเชิญชวน และการเปิดโอกาสให้องค์กรอื่นๆ ได้เข้ามาทำงานร่วมกัน
- ส่งเสริมให้มีการให้ความรู้และฝึกอบรมแก่พนักงาน เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อมและสังคมส่วนรวมให้เกิดขึ้นในหมู่พนักงานทุกระดับและสนับสนุนให้พนักงานเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่บริษัทฯ จัดขึ้น
- มีส่วนร่วมทางสังคม ในการให้การสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมที่ธำรงไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม ตลอดจนปฏิบัติตนเป็นศาสนิกชนที่ดีในการให้การอุปถัมภ์กิจกรรมทางศาสนาอย่างสม่ำเสมอ
- มีส่วนร่วมในการสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ความสามารถทางด้านกีฬา การพัฒนาความรู้ทางวิชาชีพให้มีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
- มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคม ในเรื่องสาธารณประโยชน์ การรักษาสภาพแวดล้อม และการพัฒนาชุมชน ตลอดจนโครงการสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน
- มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคมในรูปแบบต่างๆ เช่น การจัดทำโครงการรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง อันส่งผลต่อการพัฒนาและสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนไทยห่างไกลจากยาเสพติด เพื่อร่วมสร้างชุมชนเข็มแข็ง และเป็นสังคมปลอดยาเสพติด
- จัดทำโครงการต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์ แก่เพื่อนมนุษย์ที่ได้รับความเดือดร้อนในรูปแบบต่างๆ
- ส่งเสริมให้ชุมชนโดยรอบของบริษัทฯ และชุมชนต่างๆ มีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข และอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข
- รณรงค์และสร้างจิตสำนึกให้แก่พนักงานในการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากร และพลังงานต่างๆ อย่างชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพ
- สร้างสรรค์และสนับสนุนกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อการดูแลรักษาการอนุรักษ์ และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และพลังงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
- ไม่กระทำการใดๆ ที่จะมีผลเสียหายต่อชื่อเสียงของประเทศ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
- ไม่ให้ความร่วมมือหรือสนับสนุนบุคคลหรือองค์กรใดๆ ที่ทำธุรกิจผิดกฎหมาย หรือเป็นภัยต่อสังคมและความมั่นคงของประเทศ
- ปฏิบัติหรือควบคุมให้มีการปฏิบัติตาม ข้อกำหนด และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
จริยธรรมว่าด้วยการเคารพกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน
คณะกรรมการบริษัท ให้ความสำคัญในการเคารพกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน โดยการยึดมั่นใน การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ให้เป็นไปตามกฎหมาย รวมทั้งหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความเสมอภาค ความเท่าเทียมกันในแง่ของศักดิ์และสิทธิ์ โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ สัญชาติ สีผิว เพศ ศาสนา อายุ ภาษา สถานภาพทางกายภาพและสุขภาพ และสถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม และความเชื่อทางสังคม การศึกษาอบรมหรือความคิดเห็น การเมืองโดยไม่กีดกัน ไม่เลือกปฏิบัติแก่ผู้หนึ่งผู้ใด รวมทั้งส่งเสริมให้มีการตระหนักและสำนึกในสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบของตนที่มีต่อสังคมและบุคคลอื่น โดยมีนโยบายและแนวทางในการปฏิบัติดังนี้
- ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัดและให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนแก่พนักงานเพื่อนำไปเป็นแนวปฏิบัติงาน
- พนักงานทุกคนต้องทำความเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และความรับผิดชอบของตนโดยตรงให้ถี่ถ้วน และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
- ส่งเสริมการเคารพและยึดมั่นในการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนบนพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
- ปฏิบัติต่อพนักงานบนพื้นฐานของศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และให้ความเคารพต่อสิทธิหน้าที่ส่วนบุคคล
- ไม่เลือกปฏิบัติและให้โอกาสที่เท่าเทียมกันในการจ้างงานไม่ว่าจะเป็นสตรี ผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพและกลุ่มผู้ด้อยโอกาสอื่นๆ
- ไม่กีดกันหรือไม่ให้สิทธิพิเศษ หรือเลือกปฏิบัติต่อผู้หนึ่งผู้ใดเนื่องจากความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ สัญชาติ สีผิว เพศ ศาสนา อายุ ภาษา สถานภาพทางกายภาพและสุขภาพ และสถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม และความเชื่อทางสังคม และการศึกษาอบรมและความคิดเห็นทางการเมือง
- จัดให้มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและสวัสดิการที่เหมาะสมสำหรับลูกจ้างที่ทุพพลภาพ
- มีนโยบายหรือมาตรการในการตรวจสอบ คัดกรองคู่ค้าที่สำคัญตามลักษณะธุรกิจของตน เช่น ผู้ผลิต ผู้รับเหมาต่างๆ ทั้งนี้ คู่ค้าที่สำคัญตามลักษณะธุรกิจของตนดังกล่าวจะต้องดำเนินกิจการอย่างเป็นธรรมและไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน
- ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานและเคารพสิทธิในการรวมกลุ่มของพนักงาน ในการเสนอแนะหรือกำหนดทิศทางการทำงานและกำหนดวิธีการแก้ไข เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย และสร้างความสัมพันธ์อันดีในการทำงานร่วมกัน
- มีกระบวนการติดตาม และกำกับดูแลไม่ให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และพนักงาน กระทำ หรือมีส่วนร่วมในการกระทำ หรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
จริยธรรมว่าด้วยการสนับสนุนการไม่ล่วงละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ์
คณะกรรมการบริษัท เคารพสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น โดยไม่ละเมิดหรือไม่สนับสนุนการดำเนินการที่มีลักษณะเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ซึ่งแสดงถึงเจตนารมณ์ของบริษัทฯ ในการดำเนินธุรกิจด้วยความเป็นธรรม เคารพและปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีนโยบายและแนวทางในการปฏิบัติ ดังนี้
- ส่งเสริมการพัฒนาและเคารพการสร้างสรรค์ทรัพย์สินทางปัญญาและงานอันมีลิขสิทธิ์ ตลอดจนประเมินคุณค่างานสร้างสรรค์ดังกล่าวอย่างเป็นธรรม
- ร่วมปกป้องและเคารพทรัพย์สินทางปัญญาและงานอันมีลิขสิทธิ์ของบริษัทฯ และบุคคลอื่น โดยไม่ละเมิดหรือสนับสนุนการกระทำใดๆ ที่เป็นการละเมิด เช่น ทำซ้ำ ดัดแปลง คัดลอก ทำสำเนา การแพร่เสียง แพร่ภาพ เผยแพร่ต่อสาธารณชน หรือการกระทำในลักษณะอื่นใด รวมทั้งไม่นำผลงานของผู้อื่นมาแอบอ้างเป็นผลงานของตนเอง
- สนับสนุนและมีส่วนร่วมในกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อการปกป้องและป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและงานอันมีลิขสิทธิ์
- ส่งเสริมให้มีการให้ความรู้และฝึกอบรมแก่พนักงาน เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกเกี่ยวกับการเคารพและการสร้างสรรค์ทรัพย์สินทางปัญญาและงานอันมีลิขสิทธิ์ให้เกิดขึ้นในหมู่พนักงานทุกระดับ และสนับสนุนให้พนักงานเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่บริษัทฯ จัดขึ้น
- ออกระเบียบข้อบังคับบริษัทฯ เกี่ยวกับการทำงาน โดยกำหนดให้พนักงานต้องไม่ปฏิบัติตนอันเป็นการนำมาซึ่งความเสื่อมเสียชื่อเสียงของบริษัทฯ โดยปฏิบัติตนให้เป็นไปตามข้อกำหนด ประกาศ คำสั่งของหน่วยงานภาครัฐหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาและลิขสิทธิ์ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิบัตร กฎหมายเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประกาศ คำสั่ง และระเบียบปฏิบัติต่างๆ ที่บริษัทฯ กำหนดขึ้น
- กำหนดให้การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและงานอันมีลิขสิทธิ์ ถือเป็นความผิดร้ายแรงและหากพบการกระทำความผิด บริษัทฯ จะดำเนินการกับพนักงานผู้กระทำผิด ตามข้อบังคับบริษัทฯ เกี่ยวกับการทำงาน และตามกฎหมายต่อไป
ปี 2559 บริษัทฯ ยังคงร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง โดยจัดทำ โครงการรณรงค์ด้านทรัพย์สินทางปัญญา “ถูก ถูกใจ ถูกกฎหมาย” เพื่อปลูกจิตสำนึกด้านลิขสิทธิ์ให้แก่ประชาชนผ่านกิจกรรมต่างๆ ภายใต้สโลแกน “ไม่ซื้อไม่ขาย ไม่ใช้ของปลอม” เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงผลงานทรัพย์สินทางปัญญา อันจะเป็นการลดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในระยะยาวและประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการป้องกันปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์และดำเนินคดีกับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ โดยในปี 2559 มีผู้ละเมิดลิขสิทธิ์บริษัทฯ และบริษัทในเครือ ซึ่งบริษัทฯ และบริษัทในเครือได้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวแล้ว โดยเป็นคดียอมความ 51 คดี ส่งมอบคดี 56 คดี และยังไม่มีคดีที่ศาลพิพากษา รวมทั้งสิ้น 107 คดี
จริยธรรมว่าด้วยการมีส่วนได้เสียและความขัดแย้งทางผลประโยชน์
คณะกรรมการบริษัทยึดมั่นในการดำเนินธุรกจิ ภายใต้หลักจริยธรรมและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีควบคู่ไปปกับการมีความรับผิดชอบคณะกรรมการบริษัท ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันความความขัดแย้งของผลประโยชน์ โดยมีนโยบายและแนวทางปฏิบัติดังนี้
- ในการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ คณะกรรมการบริษัทจะมีการดูแลอย่างรอบคอบเมื่อเกิดรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยมีการกำหนดนโยบายและขั้นตอนการอนุมัติรายการที่เกี่ยวโยงกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในระเบียบอำนาจอนุมัติและ ดำเนินการ และ/หรือขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นตามข้อกำหนดของ ตลท. รวมทั้งมีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ ตลท. โดยราคา และเงื่อนไขเสมือนทำรายการกับบุคคลภายนอก (Arm’s Length Basis)
- กรณีที่คณะกรรมการบริษัท เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติรายการระหว่างกัน จะต้องมีกรรมการอิสระหรือกรรมการตรวจสอบเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริษัทด้วย
- คณะกรรมการตรวจสอบจะนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท เกี่ยวกับรายการที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์และรายการที่เกี่ยวโยงกันอย่างสม่ำเสมอโดยบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ไม่มีสิทธิออกเสียงหรืออนุมัติรายการนั้น
- ในกรณีที่มีการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันที่เข้าข่ายจะต้องเปิดเผยข้อมูล หรือขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นตามข้อกำหนดของ ตลท. ก่อนการทำรายการบริษัทฯ ได้มีการเปิดเผยรายละเอียด อาทิ ชื่อ ความสัมพันธ์ของบุคคลที่เกี่ยวโยง นโยบายการกำหนดราคามูลค่าของรายการ เหตุผลของการทำรายการ รวมทั้งความเห็นของคณะกรรมการบริษัทเกี่ยวกับรายการดังกล่าวให้ผู้ถือหุ้นทราบอย่างชัดเจน
- ในการทำรายการระหว่างกันในลักษณะที่เป็นการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน คณะกรรมการบริษัท ได้มีการกำหนดแนวทางในการทำรายการ ระหว่างกันในลักษณะที่เป็นการให้ความช่วยเหลือทางการเงินไว้ในระเบียบอำนาจอนุมัติและดำเนินการ ที่ผ่านการอนุมัติจาก คณะกรรมการบริษัท
- คณะกรรมการบริษัท กำหนดแนวทางในการเก็บรักษาและป้องกันการใช้ข้อมูลภายในเป็นลายลักษณ์อักษร และแจ้งแนวทางดังกล่าว ให้ทุกคนในบริษัทถือปฏิบัติและห้ามบุคคลที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลภายในทำการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทภายใน 1 เดือนก่อนการเปิดเผย งบการเงินรายไตรมาสและงบการเงินประจำปี
- คณะกรรมการบริษัท กำหนดนโยบายให้กรรมการ กรรมการบริหาร และผู้บริหาร (ตามนิยามของ ก.ล.ต.) ซึ่งรวมถึงจำนวนหลักทรัพย์ ที่ถือครองของบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องตามมาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ มีหน้าที่ในการรายงานการถือครอง หลักทรัพย์ของบริษัทฯ (GRAMMY) ในการประชุมคณะกรรมการบริษัททุกครั้ง โดยกำหนดให้เลขานุการบริษัทเป็นผู้สรุปรายงาน การถือครองหลักทรัพย์ และการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ฯ เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อรับทราบเป็นรายไตรมาส
- คณะกรรมการบริษัทกำหนดให้กรรมการผู้บริหารและบุคคลที่มีความเกี่ยวข้อง (ตามนิยามของ ก.ล.ต๗ ต้องจัดทำรายานการมีส่วนได้ส่วนเสียของตนและจัดส่งให้กับบริษัทฯ และให้เลขานุการบริษัทสรุปรายงานการมีส่วนได้เสียของกรรมการ ผู้บริหารและบุคคลที่เกี่ยวข้องของบริษัทฯ รวมถึงรายการที่มีการเปลี่ยนแปลง ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อรับทราบเป็นประจำทุก 6 เดือน
- คณะกรรมการบริษัท กำหนดให้มีการเปิดเผยรายการระหว่างกันที่มีสาระสำคัญ โดยแสดงรายละเอียดชื่อบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ความสัมพันธ์ ลักษณะของรายการ เงื่อนไข นโยบายการกำหนดราคา และมูลค่าของรายการ เหตุผลความจำเป็น และ ความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบและ/หรือคณะกรรมการบริษัท ไว้ในรายงานสารสนเทศ และ/หรือ แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และรายงานประจำปีของบริษัทฯ
การร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสการกระทำผิด (Whistle Blower)
ทั้งนี้บริษัทฯ ได้จัดให้มีหน่วยงานรับข้อร้องเรียน หรือแจ้งเบาะแสอันควรสงสัยเกี่ยวกับการถูกละเมิดสิทธิของผู้มีส่วนได้เสีย การกระทำทุจริต รวมถึงการกระทำผิดกฎหมาย นโยบายการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจ หรือมีข้อสงสัยในรายงานทางการเงิน หรือระบบการควบคุมภายในของกลุ่มบริษัทฯ ไปยังคณะกรรมการตรวจสอบซึ่งเป็นกรรมการอิสระ ดังนี้
- ทางไปรษณีย์ ที่ คณะกรรมการตรวจสอบ อาคารจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เพลส เลขที่ 50 ถนนสุขุมวิท 21 (อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110
- ทาง E-mail ที่ auditcommittee@gmmgrammy.com
โดยเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบ เป็นผู้รับผิดชอบในการสรุปประเด็นต่างๆ และนำเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อทำการสอบสวนก่อนที่คณะกรรมการตรวจสอบจะรายงานโดยตรงต่อคณะกรรมการบริษัทต่อไป โดยคณะกรรมการบริษัท มีมาตรการในการเก็บรักษาข้อมูลที่ได้รับเป็นความลับและคุ้มครองผู้ให้ข้อมูล
ทั้งนี้ในปี 2559 ไม่ปรากฏว่ามีข้อร้องเรียนหรือข้อสงสัย และไม่พบการกระทำในลักษณะที่เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามการกำกับดูแล กิจการและจริยธรรมธุรกิจ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง กฎเกณฑ์ของ ก.ล.ต. และ ตลท.
การคุ้มครองผู้ให้ข้อมูลหรือแจ้งเบาะแส
คณะกรรมการบริษัท กำหนดนโยบายและแนวทางในการคุ้มครองผู้ให้ข้อมูล หรือแจ้งเบาะแสผู้กระทำผิด โดยจะเก็บรักษาข้อมูลของ ผู้ร้องเรียนและผู้ให้ข้อมูลไว้เป็นความลับ โดยผู้ได้รับข้อมูลจากการปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว มีหน้าที่เก็บรักษาข้อมูล ข้อร้องเรียน และเอกสารหลักฐานของผู้ร้องเรียนและผู้ให้ข้อมูลไว้เป็นความลับ ห้ามเปิดเผยข้อมูลแก่บุคคลที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่เป็นการเปิดเผย ตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด