ข้อบังคับบริษัท

ข้อบังคับบริษัท

หมวดที่ 1
บททั่วไป

ข้อ 1 ข้อบังคับนี้เรียกว่า ข้อบังคับของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)
ข้อ 2 คำว่า “บริษัท” ในข้อบังคับนี้หมายถึง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)
ข้อ 3 ข้อความอื่นที่มิได้กล่าวไว้ในข้อบังคับนี้ ให้ถือและบังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด ทุกประการ

หมวดที่ 2
การออกหุ้น

ข้อ 4 หุ้นทุกหุ้นของบริษัทต้องชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่าด้วยตัวเงินหรือทรัพย์สินอื่นนอกจากตัวเงิน ผู้จองหุ้นหรือผู้ซื้อหุ้นจะขอหักกลบลบหนี้กับบริษัทไม่ได้
ข้อ 5

ใบหุ้นทุกใบของบริษัทจะระบุชื่อผู้ถือหุ้น และมีลายมือชื่อกรรมการ 1 คน ลงหรือพิมพ์ไว้ แต่กรรมการจะมอบหมายให้นายทะเบียนหุ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ลงหรือพิมพ์ลายมือชื่อแทนก็ได้

การลงลายมือชื่อของกรรมการ หรือนายทะเบียนหลักทรัพย์ดังกล่าวในใบหุ้นหรือใบหลักทรัพย์อื่นใด กรรมการหรือนายทะเบียนอาจลงลายมือชื่อด้วยตนเองหรือใช้เครื่องจักรหรือใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ประทับ หรือโดยวิธีการอื่นใดตามที่กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์อนุญาต

บริษัทจะมอบหมายให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ของบริษัทก็ได้ และหากบริษัทมอบหมายให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ของบริษัท วิธีปฏิบัติที่เกี่ยวกับงานทะเบียนของบริษัทให้เป็นไปตามที่นายทะเบียนหลักทรัพย์กำหนด

ข้อ 6 บริษัทจะออกใบหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นภายใน 2 เดือนนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนบริษัท หรือ นับแต่วันที่ได้รับชำระเงินค่าหุ้นครบ กรณีจำหน่ายหุ้นที่ออกใหม่ภายหลังจดทะเบียนบริษัท
ข้อ 7

ใบหุ้นฉบับใดชำรุด หรือลบเลือนในสาระสำคัญ ผู้ถือหุ้นอาจขอให้บริษัทออกใบหุ้นใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นโดยเวนคืนใบหุ้นเดิม

ใบหุ้นฉบับใดสูญหายหรือถูกทำลาย ผู้ถือหุ้นจะต้องนำหลักฐานการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนหรือหลักฐานอื่นอันสมควรมาแสดงต่อบริษัท

ทั้ง 2 กรณี บริษัทจะออกใบหุ้นใบใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยให้ผู้ถือหุ้นชำระค่าธรรมเนียมใบหุ้นไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

ข้อ 8

ห้ามมิให้บริษัทเป็นเจ้าของหุ้น หรือรับจำนำหุ้นของบริษัทเอง เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้

    (1) บริษัทอาจซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นที่ออกเสียงไม่เห็นด้วยกับมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นซึ่งแก้ไข ข้อบังคับของบริษัทเกี่ยวกับสิทธิในการออกเสียงลงคะแนน และสิทธิในการรับเงินปันผลซึ่งผู้ถือหุ้นเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม
    (2) บริษัทอาจซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงินเมื่อบริษัทมีกำไรสะสมและสภาพคล่องส่วนเกิน และการซื้อหุ้นคืนไม่เป็นเหตุให้บริษัทประสบปัญหาทางการเงิน

ในกรณีที่การซื้อหุ้นคืนตาม (1) และ (2) มีจำนวนไม่เกินร้อยละ 10 ของทุนชำระแล้ว ให้คณะกรรมการบริษัท มีอำนาจตัดสินใจในการซื้อหุ้นจำนวนดังกล่าวคืนได้ ส่วนในกรณีที่การซื้อหุ้นคืนตาม (1) และ (2) มีจำนวนเกินกว่าร้อยละ 10 ของทุนชำระแล้ว ให้ขอความเห็นชอบต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นก่อนดำเนินการ

หมวดที่ 3
การโอนหุ้น

ข้อ 9 หุ้นของบริษัทโอนได้โดยไม่มีข้อจำกัด เว้นแต่การโอนหุ้นนั้นเป็นเหตุให้มีคนต่างด้าวถือหุ้นอยู่ในบริษัทเกินกว่าร้อยละ 49
ข้อ 10

การโอนหุ้นย่อมสมบูรณ์เมื่อผู้โอนได้สลักหลังใบหุ้น โดยระบุชื่อผู้รับโอนและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน และส่งมอบใบหุ้นให้แก่ผู้รับโอน

การโอนหุ้นจะใช้ยันบริษัทได้ต่อเมื่อบริษัทได้รับคำร้องขอให้ลงทะเบียนโอนหุ้นแล้ว และจะใช้ยันกับบุคคลภายนอกได้ต่อเมื่อบริษัทได้ลงทะเบียนการโอนหุ้นแล้ว

เมื่อบริษัทเห็นว่าการโอนหุ้นถูกต้องตามกฎหมาย ให้บริษัทลงทะเบียนการโอนหุ้นภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ ได้รับคำร้องขอ หากการโอนหุ้นไม่ถูกต้องสมบูรณ์ ให้บริษัทแจ้งแก่ผู้ยื่นคำร้องภายใน 7 วัน

หากหุ้นของบริษัทได้รับการจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การโอนหุ้นให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

สำหรับการโอนหลักทรัพย์อื่นไม่ว่าจะได้จดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่ง ประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ข้อ 11 กรณีผู้รับโอนหุ้นประสงค์จะได้ใบหุ้นใหม่ ให้ร้องขอต่อบริษัทโดยทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของ ผู้รับโอนหุ้น และมีพยาน 1 คน ลงลายมือชื่อรับรองพร้อมคืนใบหุ้นเดิมแก่บริษัท ให้บริษัทลงทะเบียนการโอนหุ้นภายใน 7 วัน และออกใบหุ้นให้ใหม่ภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ

หมวดที่ 4
คณะกรรมการ

ข้อ 12 ให้บริษัทมีคณะกรรมการของบริษัทไม่น้อยกว่า 5 คน และกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดต้องมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร
ข้อ 13

เว้นแต่ที่ได้กำหนดไว้ในข้อ 17 ให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นเลือกตั้งกรรมการตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้

    (1) ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งมีคะแนนเสียงเท่ากับจำนวนหุ้นที่ตนถือ
    (2) ผู้ถือหุ้นคนแต่ละคนจะใช้คะแนนเสียงที่มีอยู่ทั้งหมดตาม (1) เลือกตั้งบุคคลเดียว หรือหลายคนเป็นกรรมการก็ได้ แต่จะแบ่งคะแนนเสียงให้แก่ผู้ใดมากน้อยเพียงใดไม่ได้
    (3) บุคคลซึ่งได้รับคะแนนเสียงสูงตามลำดับลงมาเป็นผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการเท่ากับจำนวนกรรมการที่จะพึงมีหรือจะพึงเลือกตั้งในครั้งนั้นในกรณีที่บุคคลซึ่งได้รับการเลือกตั้งในลำดับถัดลงมา มีคะแนนเสียงเท่ากันเกินกว่าจำนวนกรรมการที่จะพึงมีหรือจะพึงเลือกตั้งในครั้งนั้น ให้ประธานที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ 14 ในการประชุมสามัญประจำปีทุกครั้ง ให้กรรมการออกจากตำแหน่ง 1 ใน 3 เป็นอัตรา โดยให้กรรมการที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดเป็นผู้ออกจากตำแหน่งก่อน ถ้าจำนวนกรรมการที่จะออกไม่อาจแบ่งให้ตรงเป็น 3 ส่วนได้ ก็ให้ออกโดยจำนวนใกล้เคียงที่สุดกับส่วน 1 ใน 3 กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งแล้วอาจได้รับเลือกเข้ารับตำแหน่งอีกก็ได้
ข้อ 15

นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว กรรมการจะต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

    (1) ตาย
    (2) ลาออก
    (3) ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน จำกัด พ.ศ.2535
    (4) ที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติให้ออกตามข้อ 18
    (5) ศาลมีคำสั่งให้ออก

ข้อ 16

กรรมการคนใดจะลาออกจากตำแหน่ง ให้ยื่นใบลาออกต่อบริษัท การลาออกมีผลนับแต่วันที่ ใบลาออกไปถึงบริษัท

กรรมการซึ่งลาออกตามวรรคหนึ่งจะแจ้งการลาออกของตนให้นายทะเบียนทราบด้วยก็ได้

ข้อ 17

ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการว่างลงเพราะเหตุอื่น นอกจากถึงคราวออกออกตามวาระ ให้คณะกรรมการเลือกบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 เข้าเป็นกรรมการแทนในการประชุมคณะกรรมการคราวถัดไป เว้นแต่วาระของกรรมการจะเหลือน้อยกว่า 2 เดือน บุคคลซึ่งเข้าเป็นกรรมการแทนดังกล่าวจะอยู่ในตำแหน่งกรรมการได้เพียงเท่าวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน

มติของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนกรรมการที่ ยังเหลืออยู่

ข้อ 18 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอาจลงมติให้กรรมการคนใดออกจากตำแหน่งก่อนถึงคราวออกตามวาระได้ ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุม และมีสิทธิออกเสียง และมีหุ้นนับรวมกันได้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นที่ถือโดยผู้ถือหุ้นที่มาประชุม และมีสิทธิออกเสียง
ข้อ 19 กรรมการจะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทด้วยหรือไม่ก็ได้
ข้อ 20

ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ

ในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควร จะเลือกกรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นรองประธานกรรมการ ก็ได้ รองประธานกรรมการมีหน้าที่ตามข้อบังคับในกิจการซึ่งประธานกรรมการมอบหมาย

ข้อ 21

ในการประชุมคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ถ้ามีรองประธานกรรมการให้รองประธานเป็นประธาน ถ้าไม่มีรองประธานกรรมการ หรือมีแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

ในการประชุมคณะกรรมการแต่ละครั้ง ประธานในที่ประชุมจะกำหนดให้กรรมการของบริษัทเข้าร่วมประชุมและดำเนินการใด ๆ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ โดยให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ในเรื่องนั้นๆ ด้วย

โดยกรรมการบริษัทซึ่งเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วยวิธีการและเป็นไปตามเงื่อนไขที่กล่าวข้างต้นถือว่าเป็นการเข้าร่วมประชุมอันสามารถนับเป็นองค์ประชุมได้และถือว่าการประชุมที่ชอบด้วยกฎหมาย

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมคณะกรรมการให้ถือเสียงข้างมาก โดยกรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งเสียงในการลงคะแนน เว้นแต่กรรมการซึ่งมีส่วนได้เสียในเรื่องใด ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้น ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

ข้อ 22

ในการเรียกประชุมคณะกรรมการ ให้ประธานกรรมการหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายส่งหนังสือนัดประชุมไปยังกรรมการตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เว้นแต่ในกรณีจำเป็นรีบด่วนเพื่อรักษาสิทธิหรือประโยชน์ของบริษัทจะแจ้งการนัดประชุมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีอื่น และกำหนดวันประชุมเร็วกว่านั้นก็ได้

ในการจัดส่งหนังสือเชิญประชุมคณะกรรมการ รวมทั้งเอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมการ บริษัทอาจจัดส่งหนังสือเชิญประชุมและเอกสารประกอบการประชุมดังกล่าวทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แทนก็ได้ ในการนี้ผู้มีหน้าที่จัดการประชุมต้องจัดเก็บสำเนาหนังสือเชิญประชุมและเอกสารประกอบการประชุมไว้เป็นหลักฐาน โดยจะจัดเก็บในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

ข้อ 23 กรรมการต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ และข้อบังคับของบริษัทตลอดจนมติ ที่ประชุมผู้ถือหุ้น
ข้อ 23/1

กิจการของบริษัทดังต่อไปนี้จะมีผลผูกพันบริษัท ก็ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทแล้ว และอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท

    (1) นิติกรรมที่มีมูลค่าตามที่กำหนดไว้ตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป
    (2) นิติกรรมที่เกี่ยวกับการโอนทรัพย์สินทางปัญญาทุกประเภทของบริษัท
    (3) นิติกรรมที่เกี่ยวกับการให้ใช้สิทธิแบบเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียวในทรัพย์สินทางปัญญา ทุกประเภทของบริษัท

ข้อ 24 ห้ามมิให้กรรมการประกอบกิจการ เข้าเป็นหุ้นส่วนหรือเข้าเป็นกรรมการในนิติบุคคลอื่นที่มีสภาพอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของบริษัท เว้นแต่จะแจ้งให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นทราบก่อนที่จะมีมติแต่งตั้ง
ข้อ 25 กรรมการต้องแจ้งให้บริษัททราบโดยไม่ชักช้า หากมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่ทำกับบริษัท หรือ ถือหุ้นหรือหุ้นกู้เพิ่มขึ้นหรือลดลงในบริษัทหรือบริษัทในเครือ
ข้อ 26

ให้บริษัทจ่ายค่าตอบแทนแก่กรรมการดังต่อไปนี้

    (1) ค่าบำเหน็จรายปีในการดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ
    (2) เงินเดือน โบนัส ในฐานะที่กรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัท
    (3) ค่าตอบแทนตามสัญญาที่บริษัทได้กระทำธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่งกับกรรมการ หรือ ค่าตอบแทนเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางประกอบการค้าปกติของบริษัท

ข้อ 27

กรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกัน พร้อมประทับตราสำคัญของบริษัท จึงจะมีผลผูกพันบริษัทได้

คณะกรรมการบริษัทมีอำนาจกำหนดชื่อกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทพร้อมประทับตราสำคัญของบริษัท

คณะกรรมการของบริษัทต้องประชุมอย่างน้อย 3 เดือนต่อครั้ง

หมวดที่ 5
การประชุมผู้ถือหุ้น

ข้อ 28

คณะกรรมการต้องจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเป็นการประชุมสามัญประจำปี ภายใน 4 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดของรอบปีบัญชีของบริษัท

การประชุมผู้ถือหุ้นคราวอื่นนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ให้เรียกว่าการประชุมวิสามัญ ซึ่งคณะกรรมการจะเรียกประชุมเมื่อใดก็ได้ สุดแต่จะเห็นสมควร

ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งหรือหลายคนซึ่งถือหุ้นนับรวมกันได้ไม่น้อยกว่าร้อยละสิบ (10) ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมดจะเข้าชื่อกันทำหนังสือขอให้คณะกรรมการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเป็นการประชุมวิสามัญเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องระบุเหตุผลในการที่ขอให้เรียกประชุมไว้ให้ชัดเจนในหนังสือดังกล่าวด้วย ในกรณีเช่นนี้ คณะกรรมการต้องจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นภายในสี่สิบห้า (45) วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือจากผู้ถือหุ้น

ในกรณีที่คณะกรรมการไม่จัดให้มีการประชุมภายในระยะเวลาตามวรรคสาม ผู้ถือหุ้นทั้งหลายซึ่งเข้าชื่อกันหรือผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ รวมกันได้จำนวนหุ้นตามที่บังคับไว้นั้นจะเรียกประชุมเองก็ได้ ภายในสี่สิบห้า (45) วันนับแต่วันครบกำหนดระยะเวลาตามวรรคสาม ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าเป็นการประชุมผู้ถือหุ้นที่คณะกรรมการเรียกประชุม โดยบริษัทต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอันจำเป็นที่เกิดจากการจัดให้มีการประชุมและอำนวยความสะดวกตามสมควร

ในกรณีที่ปรากฏว่าการประชุมผู้ถือหุ้นที่เป็นการเรียกประชุมเพราะผู้ถือหุ้นตามวรรคสี่ครั้งใดจำนวนผู้ถือหุ้นซึ่งมาร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุมตามที่กำหนดไว้ข้อ 30 ผู้ถือหุ้นตามวรรคสี่ต้องร่วมกันรับผิดชอบชดใช้ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการจัดให้มีการประชุมในครั้งนั้นให้แก่บริษัท

ข้อ 29

ในการเรียกประชุมผู้ถือหุ้น ให้คณะกรรมการจัดทำเป็นหนังสือนัดประชุมระบุสถานที่ วัน เวลา ระเบียบวาระการประชุม และเรื่องที่จะเสนอต่อที่ประชุมพร้อมด้วยรายละเอียดตามสมควร โดยระบุให้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องที่จะเสนอเพื่อทราบ เพื่ออนุมัติ หรือเพื่อพิจารณา แล้วแต่กรณี รวมทั้งความเห็นของคณะกรรมการในเรื่องดังกล่าว และจัดส่งให้ผู้ถือหุ้นทราบไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนวันประชุม และโฆษณาคำบอกกล่าวนัดประชุมในหนังสือพิมพ์ภาษาไทยหรือโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนดติดต่อกัน 3 วัน ก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 3 วัน

ข้อ 30

ในการประชุมผู้ถือหุ้น ต้องมีผู้ถือหุ้นและมีผู้รับมอบฉันทะจากผู้ถือหุ้น (ถ้ามี) มาประชุมไม่น้อยกว่า 25 คน หรือไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ จำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด และต้องมีหุ้นนับรวมกันได้ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม

ในการประชุมผู้ถือหุ้นแต่ละครั้ง คณะกรรมการบริษัทอาจกำหนดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ โดยให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ในเรื่องนั้นๆ ด้วย

ในการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อจัดให้มีการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในการส่งหนังสือเชิญประชุมและเอกสาร ประกอบการประชุมสามารถดำเนินการตามวิธีการและระยะเวลาที่กฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการประชุมนั้นได้กำหนดไว้หรือจะส่งโดยจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แทนก็ได้ แต่ทั้งนี้ ต้องส่งตามระยะเวลาและลงโฆษณาทางหนังสือพิมพ์หรือโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด

ผู้ถือหุ้นซึ่งเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วยวิธีการ และเป็นไปตามเงื่อนไข ที่กล่าวมาข้างต้น ถือว่าเป็นการเข้าร่วมประชุมอันสามารถนับเป็นองค์ประชุมได้ และถือว่าการประชุมผู้ถือหุ้นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวเป็นการประชุมโดยชอบด้วยกฎหมายตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในเรื่องนั้นๆ

ในกรณีที่ปรากฎว่า การประชุมผู้ถือหุ้นครั้งใดเมื่อล่วงเวลานัดไปแล้วถึง 1 ชั่วโมง จำนวนผู้ถือหุ้นซึ่งเข้ามาร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุมตามที่กำหนดไว้ หากว่าการประชุมผู้ถือหุ้นได้เรียกนัดเพราะผู้ถือหุ้น การประชุมเป็นอันระงับไป ถ้าการประชุมผู้ถือหุ้นนั้นมิใช่การเรียกประชุม เพราะผู้ถือหุ้นร้องขอให้นัดประชุมใหม่ และให้ส่งหนังสือนัดประชุมไปยังผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวันประชุม ในการประชุมครั้งหลังนี้ไม่บังคับว่าจะต้องครบองค์ประชุม

ทั้งนี้ หุ้นที่บริษัทเป็นเจ้าของหุ้นเองนั้น ไม่นับเป็นองค์ประชุมในการประชุมผู้ถือหุ้น

ข้อ 31

มติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นนั้น ให้ประกอบด้วยคะแนนเสียงดังต่อไปนี้

    (1) ในกรณีปกติ ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและออกเสียงลงคะแนน โดยให้นับหุ้นหนึ่งเป็นเสียงหนึ่ง ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียง ชี้ขาด
    (2) ในกรณีดังต่อไปนี้ ให้ถือคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนโดยให้นับหุ้นหนึ่งเป็นเสียงหนึ่ง

      (ก) การขายหรือโอนกิจการของบริษัททั้งหมดหรือบางส่วนที่สำคัญให้แก่บุคคลอื่น
      (ข) การซื้อหรือรับโอนกิจการของบริษัทอื่นหรือบริษัทเอกชนมาเป็นของบริษัท
      (ค) การทำ แก้ไข หรือเลิกสัญญาเกี่ยวกับการให้เช่ากิจการของบริษัททั้งหมดหรือบางส่วนที่สำคัญ การมอบหมายให้บุคคลอื่นเข้าจัดการธุรกิจของบริษัท หรือการรวมกิจการกับบุคคลอื่น โดยมีวัตถุประสงค์จะแบ่งกำไรขาดทุนกัน

ทั้งนี้ หุ้นที่บริษัทเป็นเจ้าของหุ้นเองนั้น บริษัทจะไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนและไม่นับเป็นคะแนนเสียงของมติ ที่ประชุมผู้ถือหุ้น

ข้อ 32

กิจการอันที่ประชุมสามัญประจำปีพึงกระทำมีดังนี้

    (1) พิจารณารายงานของคณะกรรมการที่เสนอต่อที่ประชุมเกี่ยวกับการดำเนินกิจการในรอบปี ที่ผ่านมา
    (2) พิจารณาและอนุมัติงบดุล
    (3) พิจารณาจัดสรรเงินกำไร
    (4) เลือกตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ออกตามวาระ
    (5) แต่งตั้งผู้สอบบัญชี
    (6) กิจการอื่น ๆ

หมวดที่ 6
การบัญชี การเงิน และการสอบบัญชี

ข้อ 33

รอบปีบัญชีของบริษัทเริ่มต้นในวันที่ 1 มกราคม และสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี

ข้อ 34

บริษัทต้องจัดให้มีการทำและเก็บรักษาบัญชี ตลอดจนการสอบบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น และต้องจัดทำงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุนอย่างน้อยครั้งหนึ่งในรอบ 12 เดือนอันเป็นรอบปีบัญชีของบริษัท

ข้อ 35

คณะกรรมการต้องจัดให้มีการทำงบดุล และบัญชีกำไรขาดทุน ณ วันสิ้นสุดของรอบปีบัญชีของบริษัทเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น ในการประชุมสามัญประจำปีเพื่อพิจารณาอนุมัติงบดุล และบัญชีกำไรขาดทุนนี้คณะกรรมการต้องจัดให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบให้เสร็จก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น

ข้อ 36

คณะกรรมการต้องจัดส่งเอกสารดังต่อไปนี้ให้ผู้ถือหุ้น พร้อมกับหนังสือนัดประชุมสามัญประจำปี

    (1) สำเนางบดุล และบัญชีกำไรขาดทุนที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้ว พร้อมกับรายงานการตรวจสอบบัญชีของผู้สอบบัญชี
    (2) รายงานประจำปีของคณะกรรมการ

ข้อ 37

ห้ามมิให้แบ่งเงินปันผลจากเงินประเภทอื่นนอกจากเงินกำไร ในกรณีที่บริษัทยังมียอดขาดทุนสะสมอยู่ ห้ามมิให้จ่ายเงินปันผล

เงินปันผลให้แบ่งตามจำนวนหุ้น หุ้นละเท่า ๆ กัน ทั้งนี้ หุ้นที่บริษัทถืออยู่นั้น บริษัทไม่มีสิทธิรับเงินปันผล

คณะกรรมการอาจจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้เป็นครั้งคราวในเมื่อเห็นว่าบริษัทมีผลกำไรพอสมควรที่จะทำเช่นนั้น และรายงานให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมคราวต่อไป

การจ่ายเงินปันผล ให้กระทำภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้น หรือคณะกรรมการลงมติแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ให้แจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้ถือหุ้น และให้โฆษณาคำบอกกล่าวการจ่ายเงินปันผลนั้นในหนังสือพิมพ์ภาษาไทยหรือโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนดติดต่อกัน 3 วันด้วย

ข้อ 38 บริษัทต้องจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีส่วนหนึ่งไว้เป็นทุนสำรองไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของกำไรสุทธิประจำปี หักด้วยยอดเงินขาดทุนสะสมยกมา (ถ้ามี) จนกว่าทุนสำรองนี้จะมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของทุน จดทะเบียน
ข้อ 39 ผู้สอบบัญชีต้องไม่เป็นกรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ใด ๆ ของบริษัท
ข้อ 40 ผู้สอบบัญชีมีอำนาจตรวจสอบบัญชี เอกสาร และหลักฐานอื่นใดที่เกี่ยวกับรายได้ รายจ่าย ตลอดจนทรัพย์สินและหนี้สินของบริษัทในระหว่างเวลาทำการของบริษัท ในการนี้ให้มีอำนาจสอบถามกรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง ผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ใด ๆ ของบริษัท และตัวแทนของบริษัท รวมทั้งให้ชี้แจงข้อเท็จจริงหรือส่งเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของบริษัทได้
ข้อ 41 ผู้สอบบัญชีมีหน้าที่เข้าร่วมประชุมในการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัททุกครั้งที่มีการพิจารณางบดุล บัญชีกำไรขาดทุน และปัญหาเกี่ยวกับบัญชีของบริษัท เพื่อชี้แจงการตรวจสอบบัญชีต่อผู้ถือหุ้น ให้บริษัทจัดส่งรายงานและเอกสารของบริษัทที่ผู้ถือหุ้นจะพึงได้รับในการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งนั้นแก่ผู้สอบบัญชีด้วย

หมวดที่ 7
บทเบ็ดเตล็ด

ข้อ 42

ในกรณีที่บริษัทตกลงเข้าทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน ให้บริษัทปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประกาศตลาดหลักทรัพย์กำหนดไว้ด้วย

ข้อ 43

ตราของบริษัทให้ใช้ดังประทับไว้นี้